คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ “Learn Do De-velopment : เรียนรู้ ปฏิบัติ พัฒนา” ปีที่ 3
July 22, 2022
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “นวัตกรรมผู้ดูแลเด็กพิเศษในชุมชน”
July 22, 2022

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาหลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงพัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าร่วมพิธีการลงนาม ณ ห้องประชุมพิทยา จารุพูนผล ชั้น 5 อาคารเทพนม เมืองแมน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เพื่อพัฒนาหลักสูตร การศึกษาวิจัย พัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เผยแพร่ สนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ ทั้งนักศึกษา วัยทำงาน และผู้สูงวัย สามารถสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต แล้วนำมาเทียบโอน เพื่อร่นระยะเวลาในการสำเร็จการศึกษา และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของส่วนงานต่าง ๆ สนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานของ สสส. หรือบุคคลผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพเป็นวิทยากรให้ความรู้ทางวิชาการ ปรึกษาแนะนำ ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการจัดทำ Microcredit ของหลักสูตรฝึกอบรมของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) กับหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาต่าง ๆ ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตของรายวิชาที่เทียบเคียงในระบบธนาคารหน่วยกิตได้ โดยเริ่มจากหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพ เป็นสาขาแรก สำหรับระยะต่อไปจะจัดทำ Training course รายวิชาอื่น ๆ ในรูปแบบ Microcredit และความร่วมมือด้านการฝึกภาคสนาม (Field internship หรือ Field study) ด้านส่งเสริมสุขภาพ ในการพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและมีความยืดหยุ่น (Flexible Education) และเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน เสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลักดันให้เกิดความเป็นเลิศทางการศึกษา