สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “พ่อแม่อย่าไว้วางใจ..ภัยน้ำท่วม บทเรียนจากการตายของเด็กในมหาอุทกภัยปี 2554”

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ร่วมกับ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ และเครือข่ายพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จัดประชุมคณะกรรมการดำเนินการขับเคลื่อน Mindful Campus ครั้งที่ 1/2565
October 5, 2022
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีเปิด Mahidol University International Affairs Office
October 5, 2022

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จัดงานแถลงข่าว “พ่อแม่อย่าไว้วางใจ..ภัยน้ำท่วม บทเรียนจากการตายของเด็กในมหาอุทกภัยปี 2554”

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “พ่อแม่อย่าไว้วางใจ..ภัยน้ำท่วม บทเรียนจากการตายของเด็กในมหาอุทกภัยปี 2554” ผ่านกระบวนการพิเคราะห์การตายในเด็กและกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนคำนึงถึงความเสี่ยง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมหาแนวทางการป้องกันภัยที่เกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมได้ ณ ห้องสตูดิโอ 1308 ชั้น 3 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง การจมน้ำ 60 เหตุการณ์ ที่ถูกจัดกลุ่มโดยแยกตามลักษณะเหตุการณ์การตายได้เป็น 4 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 การพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำ จากบริเวณบ้านหรือศูนย์พักพิง มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เด็กมักเป็นวัยที่ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้

แบบที่ 2 นั่งเล่นบริเวณน้ำตื้นแต่ไหลเชี่ยว หรือสัญจรโดยการเดิน หรือใช้ยานพาหนะผ่านบริเวณน้ำไหลเชี่ยว เด็กกลุ่มนี้พบได้ทั้งในกลุ่ม 5-9 ปี และกลุ่ม 10-14 ปี เด็กทั้งสองกลุ่มวัยสามารถประเมินความเสี่ยงได้ แต่บางรายยังขาดทักษะ และอาจประเมินความเสี่ยงผิดพลาด เช่น คาดว่าน้ำที่ไหลเชี่ยวนั้น มีแรงดันที่ไม่เป็นอันตราย หรือบางครั้งผู้ดูแลเด็ก พี่ เพื่อน อาจชักชวนหรือนำพาเด็กให้ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

แบบที่ 3  การสัญจรทางน้ำ โดยเรือแบบต่าง ๆ มีเด็กทั้งสามกลุ่มวัยที่มีการตายเพราะการนั่งเรือแล้วเรือล่มจากสภาพเรือที่สร้างเอง จากวัสดุต่าง ๆ เรือที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่จะรับได้ หรือเรือที่ประสบเหตุชนกับโครงสร้างใต้น้ำซึ่งผู้นำเรือมองไม่เห็น

แบบที่ 4  การตายจากการร่วมปกป้องชุมชนในมหาอุทกภัยที่ผ่านมานี้ ได้เกิดกระแสความร่วมมือของชุมชนในการปกป้องภัยพิบัติ เด็กและเยาวชนหลายคนได้มีโอกาสร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมนี้กับผู้ใหญ่ในชุมชน การขาดประสบการณ์การสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กในกิจกรรมชุมชน

จึงได้สรุปเป็นแนวทางการป้องกันให้กับครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นปฏิบัติ ดังนี้

1.เด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี
– ผู้ปกครองต้องดัดแปลงบ้านหรือศูนย์พักพิงให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันภาวะเผลอเรอชั่วขณะ หรือขณะที่ผู้ปกครองนอนหลับพักผ่อน โดยกั้นประตูหรือรั้วไม่ให้เด็กออกไปนอกบ้าน หรือตกไปในบริเวณน้ำท่วม โดยรั้วนั้นต้องสูง 1 เมตรขึ้นไป และไม่มีช่องรูที่กว้างกว่า 9 ซม. ซึ่งเป็นช่องที่เด็กลอดตกได้
– ชุมชนกระจายความรู้เรื่องความเสี่ยง ข้อควรระวัง ข้อควรปฏิบัติ และการดัดแปลงบ้านเพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำของเด็กเล็ก แก่ครอบครัวที่มีเด็กเล็กเมื่อเกิดอุทกภัย
– ชุมชนจัดการดัดแปลงสิ่งแวดล้อมของศูนย์พักพิงเพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำของเด็กเล็ก
– ผู้ปกครองต้องดูแลแบบมองเห็นเด็กตลอดเวลา หากเป็นเด็กน้อยกว่า 3 ปีต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นคว้าถึง หากเป็นกลุ่ม 3-5 ปี ต้องอยู่ในในระยะมองเห็นและเข้าถึง
– เด็กควรมีชูชีพประจำตัว 1คน ต่อ 1 ตัว และหากน้ำล้อมรอบบริเวณที่เด็กอยู่อาศัย ควรให้เด็กใส่ชูชีพตลอดเวลาที่ตื่น ในบ้านที่มีเด็กทารกและมีน้ำเข้าไปในบ้านแล้ว ควรพิจารณาอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิง
– ในแต่ละวันผู้ดูแลเด็กต้องให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมการเล่นที่ปลอดภัยกับเด็ก หากปล่อยให้เด็กค้นหากิจกรรมการเล่นเองตามความต้องการภายในของเด็ก อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้

2.เด็กโต อายุ 5-14 ปี
– ชุมชนกระจายความรู้เรื่องความเสี่ยง ข้อควรระวัง และข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอุทกภัย ทั้งในชุมชนและในโรงเรียน เพื่อให้เด็กอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป รู้ว่าบริเวณน้ำที่ไหลเชี่ยวเป็นพื้นที่อันตรายมีความเสี่ยงสูง ไม่ให้เล่นน้ำบริเวณที่ไหลเชี่ยวแม้จะตื้นก็ตามเช่นบนพื้นผิวถนน
– ชุมชน และผู้ปกครอง ไม่อนุญาตให้เด็กสัญจรบนถนนที่มีน้ำไหลเชี่ยว แม้จะดูน้ำท่วมไม่มากก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการขี่มอเตอร์ไซด์ จักรยาน หรือเดินลุยน้ำ
– เมื่อมีอุทกภัย ชุมชนประกาศเตือน ติดป้ายเตือน หรือกั้นเขตห้ามผ่านในบริเวณน้ำไหลเชี่ยว ในกรณีปี 2554 บางชุมชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากไม่เตือนประชาชน ยังจัดเครื่องเสียง ร้านค้า ส่งเสริมให้บริเวณน้ำเชี่ยวเป็นบริเวณท่องเที่ยวพักผ่อนของชุมชนจนมีการเสียชีวิต จึงให้หยุดการดำเนินการ
– หากมีความจำเป็นต้องสัญจรผ่านบริเวณน้ำที่ไหลเชี่ยว ต้องใส่เสื้อชูชีพเสมอแม้จะว่ายน้ำเป็นก็ตาม
– เด็กอายุ 7 ปีต้องได้เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำตามหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอเป็นนโยบายประเทศ และเมื่อเรียนจบชั้นประถม 1 เด็กทุกคนไม่ว่าเด็กชายหรือหญิงจะต้องเพื่อเอาตัวรอด โดยต้องว่ายน้ำได้อย่างน้อย 15 เมตรและลอยตัวได้อย่างน้อย 3 นาที

3.การใช้เรือเป็นพาหนะ
– ใช้เรืออย่างเหมาะสม ไม่นำวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานมาทำเป็นเรือ เช่น แท็งก์น้ำผ่าซีก ไม่บรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่เรือรับได้
– หากมีความจำเป็นต้องโดยสารเรือ ต้องใส่เสื้อชูชีพเสมอแม้จะว่ายน้ำเป็นก็ตาม โดยเด็กต้องมีชูชีพที่มีขนาดที่เหมาะสม

4.การช่วยคนจมน้ำ
– ห้ามช่วยคนจมน้ำโดยกระโดดลงไปช่วยในน้ำ ให้ยื่นอุปกรณ์ให้เกาะแล้วดึงกลับเข้าฝั่ง หรือโยนอุปกรณ์ลอยตัวเช่นกระป๋องน้ำ

5.การสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการปกป้องชุมชน
– การสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนจะทำให้เด็กได้เรียนรู้การป้องกันภัยพิบัติ ปลูกจิตสำนึกในการทำงานเพื่อส่วนรวม ร่วมมือร่วมใจกับชุมชน และยังสามารถเชื่อมโยงภัยพิบัติที่เด็กได้เห็นต่อหน้ากับความสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การดูแลเด็กที่เข้าร่วมงาน การจัดแบ่งกิจกรรมให้เด็กทำ และพื้นที่ทำงานของเด็ก ต้องได้รับการไตร่ตรอง และจัดการอย่างเหมาะสม โดยเด็กต้องทำงานในพื้นที่ไม่มีความเสี่ยง และมีผู้ให้คำแนะนำ