คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ลงนามความร่วมมือเร่งวิจัยนวัตกรรมวัสดุปิดแผลสำหรับผู้ป่วยแผลเรื้อรังรักษายาก เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ของคนไทย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในประเทศ

มหาวิทยาลัยมหิดล รับรางวัล “Nagai Award Thailand 2021”
March 24, 2022
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมหลักสูตร “การสร้างทัวร์สถานที่เสมือนด้วย VR 360 Tour by 3DVista”
March 25, 2022

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ลงนามความร่วมมือเร่งวิจัยนวัตกรรมวัสดุปิดแผลสำหรับผู้ป่วยแผลเรื้อรังรักษายาก เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ของคนไทย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในประเทศ

วันที่ 23 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชัย จาตุรพิทักษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนานวัตกรรมวัสดุปิดแผลสำหรับผู้ป่วยแผลเรื้อรังรักษายากที่มีศักยภาพในการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อนำร่องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ของวัสดุปิดแผลให้มีประสิทธิภาพการรักษาแผลเฉียบพลันและแผลเรื้อรังในผู้ป่วย เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และเพิ่มโอกาสสำหรับผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ในราคาที่เหมาะสม สร้างความสามารถในการแข่งขันและลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ พร้อมทั้งตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.ธวัชชัย อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายบริหาร ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล  รองคณบดีฝ่ายวิจัย  รองศาสตราจารย์ นพ.เฉนียน เรืองเศรษฐกิจ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์  รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.วิทูร  ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสถานวิทยามะเร็งศิริราช  และศาสตราจารย์ นพ.พรพรหม เมืองเเมน ภาควิชาศัลยศาสตร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช

การลงงนามบันทึกข้อตกลงนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาแผ่นปิดแผล เพื่อประโยชน์ในการรักษาบาดแผลของผู้ป่วยในประเทศ เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพดีแต่ค่าใช้จ่ายสูงได้ การใช้แผ่นปิดแผลที่มีคุณภาพร่วมกับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ช่วยลดจำนวนวันการนอนรักษาตัว ลดจำนวนครั้งการมาโรงพยาบาล ลดความเจ็บปวด ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น