คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี

มหาวิทยาลัยมหิดล ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
February 23, 2023
มหาวิทยาลัยมหิดล นำคณะเข้าศึกษาดูงานเรื่อง “การบริหารจัดการด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนและการบริหารด้านต่าง ๆ” ณ มหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา และสิงห์ปาร์ค จ.เชียงราย
February 24, 2023

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารโรงพยาบาลศิริราช และสื่อมวลชนร่วมงาน ณ หอประชุมราชรถสโมสร อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม

โครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี โดย SRTA ในฐานะบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟธนบุรีและสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และประโยชน์แก่สาธารณชน โดยพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเป็นสถานีรถไฟธนุบรีแล้ว มีการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวกับโรงพยาบาล ที่จอดรถ ตลาด และที่พักอาศัย และเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ตรงข้ามกับเกาะรัตนโกสินทร์ ติดกับโรงพยาบาลศิริราช จึงมีศักยภาพในการพัฒนาสูง สามารถพัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญทางฝั่งธนบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศ SRTA จึงจัดทำโครงการศึกษาการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี โดยมีแนวคิดการพัฒนา เพื่อยกระดับพื้นที่ให้เป็นเมืองแห่งการแพทย์ (Medical District) ที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นเมืองสีเขียว (Green Society) ด้วย

สำหรับขอบเขตการดำเนินงานภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือครั้งนี้จะมีคณะทำงานและกำกับดูแลการปฏิบัติงานการจัดทำแผนแม่บทโครงการสถานีรถไฟธนบุรีจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทสำเร็จลุล่วงเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด โดย มีแนวทางการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว 4 ด้าน ได้แก่

1. Connectivity Linkage เป็นการสนับสนุนโครงข่ายถนนและทางเดินที่มีการเชื่อมต่อในพื้นที่รอบโครงการกับสถานีรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะ

2. Green Environment สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ด้วยการใช้แนวความคิดพลังงานสะอาดสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. Medical Complex สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างครบวงจรและ ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดย สร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช

4. Integrated Mixed Use Development สนับสนุนการพัฒนาสำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดย คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว โดยคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาบนหลักธรรมาภิบาล เป็นการพัฒนาที่ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางสู่โรงพยาบาลศิริราชอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีทางเลือกหลากหลายในการเดินทาง และทำให้พื้นที่โดยรอบสถานีเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตในทุกด้าน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน