วันที่ 20 ตุลาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบปีที่ 65 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์เกษียณ ผู้บริหารส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์ และบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรม ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
ในโอกาสนี้ มีการแสดงปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 29 เรื่อง “อาจารย์สตางค์กับการพัฒนาประเทศ” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศิษย์เก่าเตรียมแพทย์เชียงใหม่ และลูกศิษย์อาจารย์สตางค์ รุ่นแรก มาเล่าถึงรากเหง้าของคณะวิทยาศาสตร์ สถานศึกษาที่สร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมมาตลอด 65 ปี กล่าวปาฐกถา โดยได้กล่าวถึงอาจารย์สตางค์ว่า เป็นผู้ที่มีความเคารพและกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์ของท่านทุกคน สำนึกในคุณแผ่นดิน พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ สมเด็จพระราชบิดา และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน และได้ชักชวนนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีให้มาเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ โดยสนับสนุนให้นักศึกษาสอบชิงทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกในต่างประเทศเพื่อกลับมาพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
บรรดาลูกศิษย์เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยกลับมาเป็นอาจารย์และผู้บริหารของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีส่วนในการก่อตั้งหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรระดับนานาชาติ จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เชื่อมต่อเป็นศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาค วางรากฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา และความตั้งใจของอาจารย์สตางค์ ในการพัฒนาการศึกษา ระบบการแพทย์ และสาธารณสุขของไทย
ตลอดช่วงเวลาที่อาจารย์มีชีวิตอยู่สามารถชักชวนนักศึกษามาเรียนเตรียมแพทย์ถึง 81 คน รวมทั้งร่วมเป็นคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนานาชาติ ขอการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
นอกจากการสร้างคน การสร้างสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ กล่าวว่า วงการวิทยาศาสตร์ยังต้องมี Ecosystem หรือระบบนิเวศ รองรับและเชื่อมต่อกันไป ให้งานวิจัยพื้นฐานต่อเนื่องไปสู่นวัตกรรม ซึ่งเปรียบเหมือนผลไม้ หรือดอกไม้ที่เราพึงปรารถนา ซึ่งต้องมีลำต้นเป็นวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งจึงจะออกดอกผลได้ ผู้นำวิทยาศาสตร์ในยุคต่อไปจะต้องชี้นำให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้กำหนดนโยบาย และเชื่อมต่อ Ecosystem จากหิ้งสู่ห้างให้สมบูรณ์ ในอดีตภาคเอกชนจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยีของตนเอง ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนางานวิจัยสู่นวัตกรรม เห็นได้จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องอดทน เชื่อมต่อ และสื่อสารกับภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน จากผลงานที่เหล่าลูกศิษย์ได้สานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา และความมุ่งมั่นตั้งใจทำเพื่อประเทศชาติของท่านอาจารย์สตางค์ คือความภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยให้คณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดลเข้มแข็งขึ้น ภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้ส่วนรวมก้าวไปข้างหน้า และสิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือ อนุชนรุ่นหลังเลือกที่จะเจริญรอยตามเป็นนักวิจัย และช่วยกันพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และประเทศชาติต่อไป
จากนั้น เป็นการมอบรางวัลต่าง ๆ ได้แก่ รางวัล “Mahidol Science Communicator Award 2023” ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รางวัลองค์กรสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้แก่ “สารคดี” นิตยสารสารคดี และสำนักพิมพ์สารคดี (บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด) รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดาวรุ่ง หรือ Rising Star ได้แก่ เว็บไซต์ www.mitrearth.org และ Facebook Fan page : นิเวศเกษตร Biodiversity and Agroecology โดยมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) รางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายแพทย์ชัชพล เกียรติขจรธาดา เจ้าของหนังสือแนววิทยาศาสตร์ “เรื่องเล่าจากร่างกาย” และ “500 ล้านปีแห่งความรัก”
รางวัลอาจารย์ตัวอย่างคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งมอบให้กับอาจารย์ผู้มีผลงานโดดเด่นรอบด้านทั้งในด้านการสอน เปิดโอกาสและผลักดันนักศึกษาให้ประสบความสำเร็จ และด้านการวิจัยเพื่อนำสังคมไทยสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและการเรียนรู้ในระดับสากล รวมถึงได้อุทิศตนให้ส่วนรวมอย่างเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่
- รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงกมล เบ้าวัน อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างระดับรองศาสตราจารย์ – ศาสตราจารย์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างระดับอาจารย์ – ผู้ช่วยศาสตราจารย์
รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2566 คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สศวม) พิจารณามอบให้กับศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ และทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ได้แก่
- รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี ประธานมูลนิธิ นิตยา-นัยพินิจ คชภักดี เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศิษย์เก่าวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
- ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะ สาคริก ศาสตราจารย์สาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ศิษย์เก่าวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศิษย์เก่าแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ศิษย์เก่าวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชีวเคมี
- คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ศิษย์เก่าวิทยาศาสตรบัณฑิต จากคณะสาธารณสุขศาสตร์
- รองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา น้อยสา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และพัฒนานวัตกรรมด้วยเซลล์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ศิษย์เก่าวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาชีววิทยา
- แพทย์หญิงบุษกร พัวเกาศัลย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาบอน ศิษย์เก่าแพทยศาสตรบัณฑิตโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท
ข้อมูลและภาพโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป