มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม แถลงข่าวความร่วมมือการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 – 2568

การประชุม Kick off การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
February 7, 2023
มหาวิทยาลัยมหิดล หารือความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ Singapore University of Technology and Design (SUTD)
February 7, 2023

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม แถลงข่าวความร่วมมือการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 – 2568

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม แถลงข่าวความร่วมมือการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 – 2568 โดยมี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานแถลงข่าวและกล่าวถึงนโยบายของกรมควบคุมโรคตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดร. นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา และดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ วิทยาลัยธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมประเมิน จันทวิมล ชั้น 1 อาคาร 1 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิด คือ การให้บริการทางวิชาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ ในการวางนโยบายเพื่อชี้นำสังคมและมุ่งเป็นผู้นำในการบริการวิชาชีพและบริการวิชาการ โดยสนับสนุนให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยไปสู่การชี้นำสังคม เชิงนโยบายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชนไทย โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ทุนสนับสนุน “โครงการสังเคราะห์นโยบายเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์การปรับขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของประเทศไทยนอกพื้นที่นำร่อง” เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างของระบบสุขภาพและบริบทการบริโภคอาหารในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือ และโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 – 2568

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี 2566 มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดทำโครงการ “มหาวิทยาลัยสุขภาพดีด้วยนโยบายลดเค็ม Healthy University: Low Sodium Policy” ในทุกพื้นที่และวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพื้นที่ “sandbox” ของการทำปฏิบัติการนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation Laboratory) และมีบุคลากรและนักศึกษา เป็นผู้ร่วมทำการทดลองเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเกลือโซเดียม ผ่านกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในอันตรายจากการบริโภคเค็ม อาทิ การจัดตลาดนัด “Low Salt Market” และกิจกรรม Hackathon ลดเค็ม เพื่อสร้างนวัตกรรมลดเค็มในรูปแบบต่าง ๆ โดยนักศึกษา

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า นโยบายเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์การปรับขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของประเทศไทยนอกพื้นที่นำร่อง พร้อมถอดบทเรียน เป็นผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม (Policy Advocacy Fund) ของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลง อยู่ที่ 35 – 40 ปี จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 – 60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป การสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยเครื่องวัดความเค็ม (Salt Meter) เป็นการสนับสนุนการสำรวจแหล่งอาหารท้องถิ่นที่มีปริมาณโซเดียมสูง ร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของประเทศไทย ได้มีการทดสอบในพื้นที่นำร่อง และเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) ด้วยวิธีการทดลองควบคุมแบบสุ่มแบบคลัสเตอร์ (Cluster Randominzed Controlled Trial) ผลการศึกษาที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณพบว่า การดำเนินมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนผ่านกลไกการทำงานของระบบบริการสุขภาพภาครัฐ สามารถลดความดันโลหิตและลดการบริโภคเค็มได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและนัยสำคัญทางคลินิกเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มมีการใช้เครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหาร ภายหลังจากดำเนินการเสร็จสิ้นในชุมชนแล้ว คณะผู้วิจัยจะทำการสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในระดับประเทศสำหรับต่อยอดการพัฒนาในระยะต่อไป