วันที่ 2 มีนาคม 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานครบรอบ “54 ปี วันพระราชทานนาม และ 135 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน และผู้เเทนส่วนงาน ร่วมในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
จากนั้น เป็นพิธีบําเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล จากนั้น มีพิธีเปิดนิทรรศการเนื่องในโอกาสครบรอบ 54 ปี วันพระราชทานนาม และ 135 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” และพิธีแสดงมุทิตาจิตผู้อาวุโส ของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ในโอกาสนี้ ได้จัดแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ครั้งที่ 12 เรื่อง “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในภาวะความไม่ยั่งยืนของการพัฒนา” โดย คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยได้เล่าถึงความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทยที่ผ่านมาก่อนช่วงวิกฤติ COVID-19 ซึ่งมีการเติบโตทำรายได้สูงถึงอันดับที่ 4 ของโลก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากถึงอันดับที่ 10 ของโลก หรือเกือบ 40 ล้านคน จนเมื่อโลกต้องเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และที่สำคัญผู้ที่เคยประกอบวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูเมื่อเปิดประเทศหลังวิกฤติ COVID-19 โดยเร่งด่วน โดยมองว่าการจัดการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก จากที่เคยแข่งขันกันในเรื่องการสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งวัดกันด้วยข้อเสนอที่ให้ความหรูหรา และสะดวกสบาย เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเป็นเหมือน “การให้รางวัลกับชีวิต” แต่ต่อไปจะมีการเชื่อมโยงกับการสร้าง “ความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม” ให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยนับจากยุควิกฤติ COVID-19 ต่อไปจะเป็นช่วงเยียวยาผลกระทบจากเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นนานถึง 3 ปี ก่อนโลกจะประสบกับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) และส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Collapse) โดยสังเกตได้จากการหายไปของ “ผึ้ง” ในธรรมชาติ และ “แพลงก์ตอนพืช” ในท้องทะเล ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของ “ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ” จากบทบาทของผึ้งที่ทำให้เกิด “การผสมเกสร” ให้พืชได้เจริญเติบโตเป็น “แหล่งอาหารของมนุษย์และสัตว์” และแพลงก์ตอนที่นอกจากเป็น “แหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำในทะเล” ยังมอบ “อากาศที่บริสุทธิ์” ให้กับโลกจากการสังเคราะห์แสง เป็นต้น ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษา สามารถแสดงบทบาทใน “การสร้างองค์ความรู้” เพื่อทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย “มีความหมาย” สำหรับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจากหลากหลายประเทศไม่ได้มาเพื่อการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ต่างต้องการมาแบ่งปันทักษะชีวิต (life skills) ที่เรียนรู้จากทั้งความสำเร็จ และความผิดพลาด เพื่อก้าวใหม่ของชีวิต ซึ่งการที่นักท่องเที่ยวตัดสินใจว่าจะไปท่องเที่ยวที่ใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้ “เหตุผล” เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ “ความพึงพอใจ” ที่จะนำไปสู่ “การตัดสินใจ” ด้วย ดังนั้น การทำให้การเดินทางเป็นเรื่องของ “การเรียนรู้” ด้วยการบอกเล่าเรื่องราว (story telling) จะทำให้นักท่องเที่ยวจดจำและรอคอยจะกลับมาเยือนใหม่ในวันข้างหน้า
ต่อจากนั้น เป็นพิธีมอบรางวัลแก่บุคลากรและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2565 โดยมี พลตำรวจเอก นายแพทย์จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลต่าง ๆ ได้แก่ รางวัลมหิดลทยากร รางวัลคนดีศรีมหิดล รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง รางวัล MU Researchers of the Year 2023 รางวัลผู้มีผลงานการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร รางวัลบุคลากรดีเด่น ระดับมหาวิทยาลัย และระดับส่วนงาน ประจำปี 2565 การรับเข็มเครื่องหมายมหาวิทยาลัยมหิดล