คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดกิจกรรม “ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง 2566 City Nature Challenge 2023”

มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และการประชุม สออ.ประเทศไทย
April 30, 2023

คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดกิจกรรม “ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง 2566 City Nature Challenge 2023”

29 เมษายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา อาจารย์ ดร.ภควัต ทวีปวรเดช อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา หัวหน้าโครงการปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง คุณกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติร่วมกิจกรรม ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง 2566 City Nature Challenge 2023 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ City Nature Challenge 2023 ด้วยการเก็บข้อมูลทางชีวภาพ สัตว์ พืช และมลภาวะ ไปพร้อมกับชาวเมืองอีกมากกว่า 450 เมืองทั่วโลก โดยใช้แอปพลิเคชัน iNaturalist ในการเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตอย่างเป็นระบบ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท จัดโดย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ 5 พันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม Nature Plearn Club แมงมุมกระโดดไทย (Jumping Spiders of Thailand), Biodiv Campus: MahidolU, GYBN Thailand และ Stick With Kavee

City Nature Challenge เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกทุก ๆ ปี โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2566 เพื่อเชื่อมโยงทุกคนชาวเมืองเข้ากับระบบนิเวศในชุมชนหรือเมืองของตัวเอง ให้รู้จัก เห็นคุณค่า และหันมาร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก 7 องค์กร ได้แก่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และ THAILAND B-DNA, กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และโครงการดาวและภาคีป่าชายเลนประเทศไทย, บริษัท BLUE RENAISSANCE, Bobby’s family, FLAPPING WINGS, มูลนิธิความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และบริษัท เอกภาพค้าปลีก จำกัด ในการจัดกิจกรรมให้ชาวกรุงเทพฯ ร่วมสนุกอย่างเต็มที่กับกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติในเมือง

นอกจากนั้น ยังมีการมอบรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award ซึ่งเป็นรางวัลที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มอบให้แก่องค์กร บุคคลทั่วไป รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้สังคม สร้างประโยชน์แก่สังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จนเป็นที่ประจักษ์ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและให้กำลังใจให้กับคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการมอบรางวัลนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 โดยในปีนี้ได้มอบรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2023 ประเภทบุคคล ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่มและอุทิศตนเพื่องานวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาศักยภาพให้แก่นักวิจัยและนักศึกษา ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งสร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ และผลงานการวิจัยที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านความหลากหลายชีวภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติหลายโครงการ อาทิ โครงการตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมของกวางผา ไก่ฟ้าหางลายขวาง นกกระสาคอขาว กระจงควาย โครงการพิสูจน์จระเข้สยามและจระเข้น้ำเค็มในธรรมชาติร่วมกับกรมประมง การตรวจสอบคดีเก้งเผือกร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการระบุอัตลักษณ์ของช้างเพื่อช่วยรับรองช้างเกิดใหม่และประเมินจำนวนประชากรของช้างในผืนป่ากุยบุรี โดยร่วมมือกับปางช้าง กรมการปกครอง และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เป็นต้น ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้ได้สร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง

และรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2023 ประเภทองค์กร (ด้านกิจกรรม) ให้แก่ Carbon Markets Club ซึ่งใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีความรับผิดชอบ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยมี คุณกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนรับรางวัล

ข้อมูลและภาพโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร