คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวนวัตกรรม MSU-SOS 2023 รถรักษาโรคหลอดเลือดสมอง สุดล้ำ ‘สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบที่เดียว’ ภายใน 15 นาที ครั้งแรกในเอเซียแปซิฟิก

คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร และครูโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ในโอกาสเข้าศึกษาดูงานด้านเกณฑ์คุณภาพแห่งชาติ
November 7, 2022
คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล รับมอบเครื่อง Steam Explosion จากบริษัท พีทีที โกลบอล จำกัด (มหาชน)
November 8, 2022

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวนวัตกรรม MSU-SOS 2023 รถรักษาโรคหลอดเลือดสมอง สุดล้ำ ‘สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบที่เดียว’ ภายใน 15 นาที ครั้งแรกในเอเซียแปซิฟิก

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเปิดตัวนวัตกรรมล้ำอนาคตสู่โลกวันนี้ ‘รถรักษาโรคหลอดเลือดสมอง รุ่น MSU-SOS 2023’ สร้างสถิติเวลาในการรักษาผู้ป่วยแข่งกับมฤตยู จากประตูรถถึงเข็มฉีดยา (Door to Needle) เร็วที่สุดภายใน 15 นาที ด้วยระบบสื่อสารทางการแพทย์ชั้นสูง การประมวลผลแบบ Edge Computing และ AI on Cloud สามารถส่งข้อมูลผู้ป่วยและภาพหลอดเลือดสมองที่รวดเร็วจากเครื่อง CT 16 Slices ที่ได้การรับรองมาตรฐานเพื่อติดตั้งบนรถ นับเป็นคันแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นคันที่ 2 ของโลก โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตก-ตันเฉียบพลัน (Stroke) จำนวนกว่า 13.7 ล้านคน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 328 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 10 และพิการถึงร้อยละ 60 ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากขึ้น

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  โรงพยาบาลศิริราชในฐานะผู้นำและเป็นต้นแบบของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยรถโมบายสโตรคยูนิต เปิดให้บริการมากว่า 4 ปี ตั้งแต่ ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 1,070 ราย โดยขยายพื้นที่ให้บริการออกไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนทรัพยากรในการรักษาได้เข้าถึงบริการรักษาอย่างทั่วถึงในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครพนม โดยยังคงมุ่งมั่นพัฒนารถโมบายสโตรคยูนิตและแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และตั้งใจให้เป็นต้นแบบบริการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม จนถึงปัจจุบันได้พัฒนามาจนถึงรถรุ่นใหม่ล่าสุด MSU-SOS 2023 (Mobile Stroke Unit -Stroke One Stop) ในวันนี้ที่สามารถให้บริการได้ตั้งแต่ ‘สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบที่เดียว’

รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ประเทศไทยได้รับการจัดเป็นอันดับ 5 ของโลก ‘ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ’ จากดัชนี Global Health Security Index (GHS) ปี 2021  โดย มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์  จะเห็นว่าในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลเฮลท์แคร์ และพัฒนา Telemedicine อย่างก้าวไกลในหลายมิติตั้งแต่ระบบบริการ เวชระเบียน ประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี การเชื่อมต่อสื่อสาร Edge Computing และคลาวด์คอมพิวติ้ง ช่วยให้การบำบัดรักษาได้รวดเร็วแม่นยำ การคิดค้นพัฒนาเฮลท์เทคที่ก้าวล้ำดังเช่นนวัตกรรม MSU-SOS 2023 รถรักษาโรคหลอดเลือดสมอง คันที่ 6 นี้เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการคิดค้นและออกแบบผลงานทางวิศวกรรมระดับโลกโดยบุคลากรไทยสมรรถนะสูง ยกระดับศักยภาพความแข็งแกร่งของไทยให้ก้าวเป็นผู้นำด้านเฮลท์เทคและเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในระดับโลก เพื่อช่วยชีวิตคนไทยและเพื่อนมนุษย์ได้มากขึ้นและทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชพยาบาล กล่าวถึงเหตุใดจึงต้องสร้างนวัตกรรม MSU-SOS 2023 ว่า การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเป็นการทำงานแข่งกับเวลาที่คร่าชีวิตคนไทยและชาวโลกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังทำให้พิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้ความพิการและการเสียชีวิตลดลง อยู่ที่ ‘มาตรฐานเวลา’ ภายใน 270 นาที หากพบอาการเร็วและได้รับการวินิจฉัยเร็ว โอกาสที่จะหายก็มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยี Mobile Stroke Unit รุ่น MSU-SOS 2023 ให้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพแก่บุคลากรการแพทย์ ที่ผ่านมา รถ MSU รุ่นก่อนหน้าได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 1,070 ราย เป็นที่ประจักษ์ว่านวัตกรรมนี้ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้จริง

ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.พรชัย ชันยากร ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรม Mobile Stroke Unit ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความโดดเด่นของเทคโนโลยีอันก้าวหน้าและ Telemedicine ของ MSU-SOS 2023 ว่าเป็นผลผลิตจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง มีการออกแบบโครงสร้างตัวรถใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สามารถรองรับ 16-Slice CT Scanner ที่ได้รับการจดทะเบียนรับรองให้ติดตั้งในรถ มีการออกแบบทางวิศวกรรมความปลอดภัยสูงสุดจากการชนและอุบัติเหตุทางถนน อีกทั้งออกแบบระบบไฟฟ้าใหม่เพื่อให้ปฎิบัติงานได้ไม่ต่ำกว่า 3 ชม. โดยปราศจากเครื่องยนต์และแหล่งพลังงานภายนอก นอกจากนี้เรายังวางระบบสื่อสารใหม่รองรับการสื่อสารแบบ 5G Multiple Bands ทำ QoS ช่องสัญญาณแบบ Real-Time นำ Edge Computing มาประมวลผลข้อมูลก่อนนำสู่ Cloud เพื่อทำ AI ภาพหลอดเลือดสมองร่วมกับฐานข้อมูลผู้ป่วย ตลอดจนออกแบบระบบเพื่อลดภาระงานในสภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้กระบวนการรักษาดูแลผู้ป่วยแบบ Door-to-needle ใช้เวลาน้อยกว่า 15 นาทีตามเป้าหมาย

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT)  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รถรักษาโรคหลอดเลือดสมอง รุ่น MSU-SOS 2023 จดทะเบียนภายใต้แบรนด์ ‘MSU-SOS’ นับเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่สร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติให้ปลอดภัยจากการเสียชีวิตและพิการจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ช่วยยกระดับให้ไทยเป็นประเทศที่สุขภาพดี Healthy Thailand และก้าวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศและลดการนำเข้า สร้างโอกาสและรายได้ทางเศรษฐกิจโดยการส่งออกสู่ตลาดโลก ซึ่งขณะนี้มีหลายแห่งให้ความสนใจ รถ MSU-SOS 2023 ของไทย ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.02-8496050

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชพยาบาล กล่าวถึงบทบาทของโรงพยาบาลศิริราช ในการเป็น หน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับที่ปรึกษาโรคหลอดเลือดสมอง ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่จะปฏิบัติงานอำนวยการที่ปรึกษาให้กับ หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับเฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมองทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการประชาชนอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล รพ.ศิริราช ภาคตะวันตก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี ภาคใต้ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม ทั้งนี้ในปี 2566 จะขยายหน่วยปฏิบัติการไปยัง จ.น่าน และ จ.ชุมพร นอกจากนี้เราอยู่ระหว่างการออกแบบและสร้าง MSU ทางเรือ ซึ่งปฏิบัติการทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมกันทำให้เกิดบริการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีในระดับโลก และถือเป็นต้นแบบของการบริการในภาวะฉุกเฉินด้านอื่น ๆ ต่อไป

หากท่านหรือคนในครอบครัวมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ขอให้ท่านตั้ง ‘สติ’ รีบโทรแจ้ง ‘1669’ ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่จะทำให้ท่านได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลและภาพ: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล