มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานวิชาการพร้อมลงนามความร่วมมือ (MOU) BRAINPOWER THAILAND 2022

มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมการประชุม 2022 Global University Presidents’ Forum
May 19, 2022
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Road to Abroad 2022 “Learn beyond Borders : แรงบันดาลใจสู่การเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน”
May 20, 2022

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานวิชาการพร้อมลงนามความร่วมมือ (MOU) BRAINPOWER THAILAND 2022

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมงานมหกรรม BRAINPOWER Thailand 2022 “บุญเปิดบ้าน แปงเมือง สร้างคนข้ามพรมแดน สู่อุตสาหกรรมโลกแห่งอนาคต” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การสร้าง Brainpower Thailand สู่การสร้าง Frontier Research Technology และ SHA เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากฐานรากสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคต” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า การให้ทุนนั้นไม่สำคัญเท่ากับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของคนเก่ง จากหลากหลายมหาวิทยาลัย สถาบันการวิจัย และสถาบันชั้นนำต่าง ๆ ของประเทศไทยให้มาทำงานร่วมกัน ถ้าหากเรามีการรวบรวม Talent รวบรวมคนเก่งจากหน่วยงานในประเทศไทยให้มาพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำความร่วมมือผสมผสานความคิดให้เกิดการทำงานร่วมกัน เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน ก็จะสร้างประโยชน์กับประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

ในโอกาสนี้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) BRAINPOWER THAILAND 2022 บุญเปิดบ้าน แปงเมือง สร้างคนข้ามพรมแดน สู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กับภาคีเครือข่ายของหน่วยงานพันธมิตร โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมพิธี โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU Frontier AI “Personal Health AI Consortium (Khon Kaen Smart Living Lab Phase II)” เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยระดับแนวหน้าด้าน Personal Health AI เป็นการต่อยอดไปสู่ Khon Kaen Smart Living Lab Phase II สร้างโอกาสและความพร้อมของประเทศในการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart Health & Smart City และเป็นการพัฒนาบุคลากรให้ทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้จาก Frontier AI technology ต่อไป และ MOU Frontier Technology Consortium “HEP, Quantum, Earth Science & Space, BCG” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานวิจัยระดับแนวหน้าด้านฟิสิกส์ โลกและอวกาศ เศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเสวนาวิชาการด้านการพัฒนาเครือข่ายทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ชั้นแนวหน้า เรื่อง “ทิศทางและระบบการพัฒนากำลังคนของประเทศร่วมกับ บพค.” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการคณะกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และประธานกรรมการคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และการเสวนาพิเศษเรื่อง “การพลิกโฉมระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของสถาบันด้าน ววน. สู่ระบบ co-creation เพื่อความเป็นเลิศระดับสากล” โดยผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายการพัฒนากำลังคนและการวิจัยชั้นแนวหน้าของประเทศไทย และนิทรรศการการนำเสนอผลงาน ซึ่งจัดกิจกรรมในรูปแบบผสมผสานกับอัตลักษณ์ความเป็นอีสาน ด้วยสื่อสร้างสรรค์ อาทิ ด้านภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ที่มาจากองค์ความรู้ต่าง ๆ ทรัพย์สินทางปัญญา และการวิจัย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม

งานมหกรรม Brainpower Thailand 2022 “บุญเปิดบ้าน แปงเมือง สร้างคนข้ามพรมแดน สู่อุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต” จัดขึ้นโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภูมิภาค เพื่อนำเสนอผลงานที่โดดเด่นของ บพค. ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 เชื่อมไปสู่แนวทางการบริหารจัดการทุนจากแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 อีกทั้ง เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างและเชื่อมความสัมพันธ์ของเครือข่ายการพัฒนากำลังคนระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น