วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 2) ครั้งที่ 10/2564 ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนดำเนินการปีงบประมาณ 2564-2565 และรับฟังผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันฯ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ณ ห้องประชุมเจริญคุณธรรม ชั้น 3 อาคารปัญญาวัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
การดําเนินงานตามเป้าหมายที่ผ่านมาและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
1.การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดนโยบายระดับประเทศ ในการแก้ไขจุดอ่อนของการพัฒนาเด็กปฐมวัย
2.การขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายระดับประเทศ และท้องถิ่นในการเพิ่มพื้นที่เล่นสู่การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว (CFS)
3.พัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสมองเด็กจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี 4 เรื่อง ได้แก่ ความยากจนเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เทคโนโลยี IT และอุบัติเหตุ-ความรุนแรง-ภัยพิบัติ
4.ขยายผลการเรียนต่อเนื่องตลอดชีวิตของสังคมไทย ในรูปแบบหลักสูตรการเรียนร่วม การเรียนนอกระบบ การเรียนตามอัธยาศัย การเรียนต่อเนื่องตลอดชีวิตของเด็กและผู้ดูแลเด็ก
เป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 2 ปีข้างหน้า
1.จัดทำแผนงาน “การปฏิรูปการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัย” จำนวน 4 โครงการ เพื่อนำสู่ผลลัพธ์นโยบายระดับประเทศ
2.พัฒนาต่อเนื่อง “พื้นที่เด็กและครอบครัว” จำนวน 3 โครงการ เพื่อผลลัพธ์ทางด้านนโยบายระดับท้องถิ่นและประเทศ
4.ดำเนินการตามแผนงาน “การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสมองเด็กจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี” 4 โครงการ ได้แก่
ความยากจนเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เทคโนโลยี IT และอุบัติเหตุ-ความรุนแรง-ภัยพิบัติ
5.ขยายผลการเรียนตลอดชีวิตของสังคมไทย อย่างน้อยให้ได้ 20 หลักสูตร และครอบคลุมผู้เรียน 20,000 คน พร้อมทั้ง สนับสนุนการพัฒนา “ธุรกิจเพื่อสังคม” ที่มีผลประกอบการที่ดีขึ้นตามลำดับทุกปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ในการขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ เช่น “การพัฒนาทักษะ EF” ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ซึ่งควรขยายไปสู่คนทุกวัย ตลอดจนสนับสนุนการขยายแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมเสนอแนะให้หาความร่วมมือเพิ่มเติมจากส่วนงานภายในและองค์กรภายนอก เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ในการดำเนินงานด้าน SDGs อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน