คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย

ม.มหิดล ร่วมงานเสวนา เรื่อง “มหาวิทยาลัยวิจัยกับบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”
November 26, 2021
ม.มหิดล จัดประชุมการบริหารจัดการสนับสนุนอาจารย์หรือนักวิจัยศักยภาพสูง
November 29, 2021

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการสัมมนา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวรายงานภาระโรคจากการกินเค็ม และผลของนโยบายลดการบริโภคเกลือที่ผ่านมา ดร.เรณู การ์ก (Dr.Renu Madanlal Garg) Medical Officer, NCDs องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายลดการบริโภคเกลือในระดับโลก และคุณณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวถึงภาษีโซเดียมเพื่อสุขภาพ ณ ห้อง 910ABC อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

จากนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การลดการบริโภคเกลือโซเดียมเพื่อช่วยลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนอันเนื่องมาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตสูง และจากรายงานการสำรวจในปีที่ผ่านมาโดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก พบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน เกือบ 2 เท่า นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจในอีกด้านหนึ่งคือ สนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น จะเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน ดังนั้น เพื่อให้คนไทยลดการบริโภคเกลือโซเดียมอย่างเป็นรูปธรรม มาตรการภาษีสรรพสามิตจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชน และผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดการบริโภคและลดการผลิตสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง ร่วมกับการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่น ๆ และในปัจจุบันกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความเค็มตามปริมาณโซเดียม และจะดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป

การประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทยครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างเวทีให้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมอาหารได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยมี นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดร.ลอยลม ประเสริฐศรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณธนพนธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมผลักดันให้เกิดมาตรการดังกล่าวที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำได้อย่างทั่วถึง นอกเหนือไปจากการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ที่ได้มีการดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม