คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 4) ครั้งที่ 19/2568 ของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดบรรยายพิเศษการบริหารจัดการเงินเพื่อจัดสวัสดิการให้กับบุคลากร
July 3, 2025
คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 4) ครั้งที่ 17/2568 ของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
July 3, 2025

คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 4) ครั้งที่ 19/2568 ของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล และทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 4) ครั้งที่ 19/2568 ของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และรับฟังผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางกูร ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ณ ห้องประชุมอารี วัลยะเสวี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

1.ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของส่วนงานในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล
ยุทธศาสตร์ที่ 1 World Class Research & Innovation: สถาบันผลักดันการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การเป็น World Class University ด้วยการยกระดับจำนวนบุคลากร Global Talent เพื่อเพิ่มคุณภาพผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ โดยในปี 2565-2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวน 72, 81 และ 81 เรื่อง ตามลำดับ ซึ่งสัดส่วนของผลงานตีพิมพ์ Top 1 มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1 เรื่อง (ปี 2566) เป็น 5 เรื่อง (ปี 2567) ส่งผลให้ค่า Field-Weighted Citation Impact อยู่ที่ 1.46 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานร้อยละ 46 ตลอดจนมีความร่วมมือด้านการวิจัยกับเครือข่ายนานาชาติ อาทิ The Rockefeller Foundation, Consultative Group on International Agricultural Research (CGIAR), Center for Dietary Assessment (Intake), World Wood Program (WFP) และเป็นศูนย์ความเป็นเลิศระดับภูมิภาคเอเชีย (Asia Center of Excellence) ภายใต้โครงการ Periodic Table of Food Initiative (PTFI) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก American Heart Association ตลอดจนจัดตั้ง Joint Unit ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ ETH Zurich และ Harvard University (โครงการต่อเนื่อง)

ยุทธศาสตร์ที่ 2 Innovative Education and Authentic Learning: การพัฒนาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพและสุขภาวะ (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งเป็นหลักสูตรวิทยาการ (Interdisciplinary) ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะตามหลักโภชนาการ ทั้งในระดับบุคคล สังคม โดยเฉพาะในบริบทของการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกช่วงวัย และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเรียนสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้จากหลากหลายประเทศ อาทิ อิตาลี เวียดนาม เมียนมา เป็นต้นรวมทั้งการจัดหลักสูตรด้านอาหาร โภชนาการ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น และการเรียนรู้ตลอดชีพ โดยเฉพาะในรูปแบบออนไลน์ อาทิ หลักสูตรสารก่อมะเร็งในอาหาร Health Risk of Excess Nutrients and Regulatory Enforcement เป็นต้น (โครงการต่อเนื่อง)

ยุทธศาสตร์ที่ 3 Policy Advocacy, Leaders in Professional / Academic Services and Excellence in Capacity Building for Sustainable Development Goals: สถาบันเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาศักยภาพด้านอาหารและโภชนาการแก่องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจในการมอบหมายภารกิจสำคัญจากองค์กรระดับโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) และโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรแห่งเอเชีย (AFACI) เช่น การเป็น Co-Chair ของ One Country One Priority Product (OCOP) Regional Organizing Group (ROG) for Asia and the Pacific (FAO) เพื่อช่วยประเทศในภูมิภาคเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์การเกษตรให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลและสนับสนุนการมีโภชนาการที่ดีขึ้นของประชากรภายใต้โครงการ กัมพูชา เนปาล ภูฏาน และปาปัวนิวกินี ตลอดจนการพัฒนาระบบ Thai School Lunch ร่วมกับ NECTEC เพื่อเป็นโปรแกรมช่วยจัดอาหารกลางวันให้ได้ตามมาตรฐานโภชนาการที่ถูกต้องในโรงเรียนสังกัด สำนักงานการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งดำเนินการวิจัยและพัฒนาการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารในการประเมินความปลอดภัยของ rPET ที่จะนำกลับมาขึ้นรูปผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารจนนำมาสู่การปลดล็อคกฎหมายฉบับเดิมและถูกผลักดันเป็นนโยบายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 435) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก นอกจากนี้ยังได้รับอนุมัติจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นหน่วยงานจัดอบรมหลักสูตร ‘สุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร’ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขาภิบาลอาหารอย่างถูกต้อง (โครงการต่อเนื่อง)

ยุทธศาสตร์ที่ 4 Management Innovation for Sustainability: ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรจึงได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาทักษะและสมรรถนะ อาทิ การจัดสรรงบประมาณเป็นทุนในการสนับสนุนการวิจัย การศึกษาต่อ การอบรมเพิ่มทักษะ การจัดอบรม ChatGPT & Gemini AI เพื่อนำ AI มาช่วยในการทำงาน และการอบรม CPR & AED เพื่อเสริมทักษะการปฐมพยาบาลและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาทิ การสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อการแปรรูปอาหาร ครัวสาธิตการปรุงอาหารพร้อมระบบถ่ายทอดสัญญาณออนไลน์ การจัดหาเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง การจัดตั้ง Clinical research center การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่บุคลากรและนักศึกษา เช่น การปรับปรุง/สร้างพื้นที่ทำงานและพักผ่อน การเพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางกายและจัดมุมกาแฟไว้ให้บริการ (โครงการต่อเนื่อง)

2. เป้าหมายที่คาดหวังว่าจะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปีงบประมาณ 2569-2570)
ยุทธศาสตร์ที่ 1 World Class Research & Innovation: การผลักดันการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารสุขภาพและอาหารทางการแพทย์ไปสู่ตลาด/สังคม เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพประชากรแต่ละช่วงวัย ประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีความต้องการเฉพาะทางด้านโภชนาการ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การผลิตสารเสริมโภชนาการน้ำนมแม่ชนิดเหลวปลอดเชื้อสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย และอาหารผู้มีปัญหาด้านการเคี้ยวกลืน รวมทั้งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติค อาหารฟังก์ชัน น้ำลายเทียม เจลเพื่อช่วยการกลืนยา ตลอดจนการขยายเครือข่ายการวิจัยกับหน่วยงานที่สำคัญกับการดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้น เช่น National Agriculture and Food Research Organization, Japan (NARO), School Meal Coalition (โครงการต่อเนื่อง)

ยุทธศาสตร์ที่ 2 Innovative Education and Authentic Learning: ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากลเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบัณฑิตในเวทีโลก และดำเนินการยกระดับคุณภาพของอาจารย์ผู้สอนให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล (MUPSF) เพื่อส่งเสริมความเป็นมืออาชีพด้านการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาศักยภาพอาจารย์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในระดับสากล (โครงการต่อเนื่อง)

ยุทธศาสตร์ที่ 3 Policy Advocacy, Leaders in Professional / Academic Services and Excellence in Capacity Building for Sustainable Development Goals: การให้บริการโรงงานต้นแบบมาตรฐาน GMP สำหรับการแปรรูปอาหารเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารและโภชนาการ และการจัดทำมาตรฐานความข้นหนืดของอาหาร (Texture Descriptor) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืน (Dysphagia) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยทางอาหารในผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม รวมทั้งการเป็นศูนย์ข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหาร Branded Food Products Database และฐานข้อมูลปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาหาร/โภชนาการกับยา (Food/Nutrition & Drug Interaction Database) เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนางานวิจัยด้านโภชนาการและสาธารณสุข ตลอดจนการให้คำแนะนำทางโภชนาการในระดับบุคคลและระบบสุขภาพ รวมทั้งการให้บริการเบ็ดเสร็จด้านโพรไบโอติก เพื่อสนับสนุนให้เกิดจุลินทรีย์โพรไบโอติกใหม่ของประเทศที่ได้รับการรับรองจาก อย. รวมทั้งการจัดทำแนวทางการประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร พลาสติก rHDPE และการกำหนดมาตรฐานโปรตีนจากพืช เพื่อประโยชน์ในเชิงนโยบายและกฎหมาย (โครงการต่อเนื่อง)

ยุทธศาสตร์ที่ 4 Management Innovation for Sustainability: การใช้ครัวสาธิตในการให้บริการอบรมด้านอาหารและโภชนาการเพื่อยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านอาหารและโภชนาการของประเทศ การให้บริการอาหารว่างที่ดีกับสุขภาพและผลิตผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยของสถาบันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ตลอดจนโครงการสนับสนุนสุขภาวะ เช่น Sandbox เพื่อส่งเสริมการบริโภคผัก การส่งเสริมการออกกำลังกาย การสร้างพื้นที่กิจกรรมและสันทนาการให้ตอบสนองต่อความต้องการของบุคลากรและนักศึกษา (โครงการต่อเนื่อง)