วันที่ 1 เมษายน 2568 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอัจฉริยะ” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นายกฤษณ์ อิ่มแสง เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม และได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีความมุ่งมั่นในการเป็นปัญญาของแผ่นดิน พร้อมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้ทางการวิจัยและวิชาการ เพื่อการต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิด Real World Impact ต่อสังคมไทยและสังคมโลก ตามแนวทางของ SDGs การร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้จึงถือเป็นต้นแบบการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางการเกษตรอัจฉริยะ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะเห็ดและพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยใช้พื้นที่บริเวณอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพื้นที่ Sandbox ในการทดสอบและสาธิตการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรแบบครบวงจร ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมด้าน Future Food ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยา ทั้งยังเป็นต้นแบบความร่วมมือในระยะยาวระหว่าง มหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม ในการสร้างนวัตกรรมจากผลการวิจัยและวิชาการร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการและพันธมิตรของ ส.อ.ท. เพื่อยกระดับทักษะด้านการทำเกษตรรูปแบบใหม่ ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้กับผู้ประกอบการ SMEs สามารถผลิต Future Food และสร้างกลไกการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคได้ ถือเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ให้เติบโตต่อไป
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดบูธแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีหน่วยงานร่วมจัดนิทรรศการ ดังนี้ วิทยาเขตกาญจนบุรี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันโภชนาการ คณะเภสัชศาสตร์ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture Industry (SAI) สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม โครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน (Innovation ONE) FTI Academy และ FTI Service