วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 19 “ประชากรและสังคม 2568” “วิจัยประชากรและสังคมสู่ Real-World Impacts (Real-World Impacts of Population and Social Research)” พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ“มหาวิทยาลัยกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม” (Universities as Catalysts for Social Change) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมขึ้น เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนมุมมองเชิงวิชาการและนโยบาย การนำองค์ความรู้ทางวิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางสังคม สุขภาพประชาชน สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศและระดับโลก ณ ห้องประชุมประชาสังคมอุดมพัฒน์ ชั้น 1 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านระบบออนไลน์
ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “EQUALITY สังคมที่ทุกคนเท่าเทียม” โดย คณาจารย์ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา บรรยายหัวข้อ การขับเคลื่อนกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ: บทเรียนและข้อคิด รองศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิดา ชวนวัน บรรยายหัวข้อ เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการใช้ข้อมูลประชากรเพื่อขับเคลื่อนสังคมสูงวัยอย่างมีพลัง และ Mr. Timethius J. Terrell นักวิชาการอาคันตุกะของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม บรรยายหัวข้อ Advancing Gender Equity and Inclusion in Thai Universities: Empowering Student Voices and Strengthening Support Systems for Sustainable Development เข้าร่วมการเสวนา ดำเนินรายการโดย ดร.วาสนา อิ่มเอม กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อ “ENDING NCDs สุขภาพที่มาจากพฤติกรรมส่งเสริมร่วมกัน” และหัวข้อ “HEALTH CARE & AIR QUALITY สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยผู้ทรงคุณวุฒิภายในและภายนอก เข้าร่วมการเสวนา พร้อมทั้ง กิจกรรมการออกบูธนิทรรศการให้ความรู้ ได้แก่ กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ กิจกรรมการมีส่วนร่วม แบ่งปันแนวคิด และการเรียนรู้ร่วมกัน เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน โรงเรียน “วัยเก๋า” งิ้วราย เป็นต้น