วันที่ 3 มีนาคม 2568 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิด แถลงข่าวเปิดตัว “รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตน์เมธีวิชญ์” เฟ้นหานักวิจัยคุณภาพ ร่วมขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกสู่สังคม โดยรางวัลนี้ได้รับแรงบันดาลใจและการสนับสนุนจาก พลตำรวจเอก นายแพทย์จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นมากกว่ารางวัลเชิดชูเกียรติ แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยไทย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย นายจิระพงษ์ คูหากาญจน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
“รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตน์เมธีวิชญ์“ รางวัลทรงเกียรติที่มุ่งยกย่องและสนับสนุนนักวิจัยไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัย ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถแก้ปัญหา พัฒนาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ สร้างผลกระทบเชิงบวกสู่สังคม และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “Real World Impact for Sustainability” โดยเน้นงานวิจัยใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology) และสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปะรางวัล (Social Sciences, Humanities and Art) โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่น(ไม่จำกัดอายุ) สำหรับนักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างคุณูปการแก่สังคม และมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินสนับสนุน 5 ล้านบาท และรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ (อายุไม่เกิน 45 ปี) ที่มีศักยภาพในการสร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสังคม โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินสนับสนุน 1 ล้านบาท
โดย “รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จงเจตน์เมธีวิชญ์” มีเกณฑ์การพิจารณา 5 ด้าน ดังนี้
1. การได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ (National or International Recognition) เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล ได้รับการอ้างอิง หรือมีการนำไปใช้จริงโดยหน่วยงานสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2. การสร้างองค์ความรู้ใหม่ (Originality) เป็นงานวิจัยที่มีความสร้างสรรค์หรือมีการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ที่แตกต่างจากเดิมที่มีอยู่ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือการค้นพบแนวทางการรักษาโรคใหม่
3. ศักยภาพในการขยายผลและผลกระทบระยะยาว (Scalability/Long-Term Impact) เป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้ในวงกว้างหรือขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นหรือสามารถปรับใช้ในบริบทที่แตกต่างออกไปได้ เช่น การขยายผลจากชุมชนเล็กๆ ไปสู่ระดับประเทศ
4. ความยั่งยืนของผลงาน (Sustainability) สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรจำนวนมาก
ผู้สนใจเสนอชื่อนักวิจัยเข้ารับรางวัลสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://jongjate-award.mahidol.ac.th/
เปิดรับการเสนอชื่อตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 เสร็จสิ้นกระบวนการสรรหาและประกาศผลผู้ได้รับรางวัลภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2568
ติดต่อสอบถาม กองบริหารงานวิจัย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ : 02 849 6245 อีเมล : jariya.saw@mahidol.edu