วันที่ 7 กันยายน 2567 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงานมหิดลวิชาการ เปิดบ้านมหิดล ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Empowering the Next Generation” โดยมี รองศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ทั้งนี้ มีการแสดงโชว์หุ่นยนต์กู้ภัย ผลงานของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้แนวคิด “Empowering the Next Generation” และการเล่นเกม Empowering MU ผลงานของนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล โอกาสนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารส่วนงาน คณาจารย์ และนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ณ ห้อง 217-219 อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
งานมหิดลวิชาการ เปิดบ้านมหิดล ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Empowering the Next Generation” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 8 กันยายน 2567 เพื่อเปิดให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง มาทำความรู้จักกับมหาวิทยาลัยมหิดลในแง่มุมต่าง ๆ พร้อมเยี่ยมชมคณะและหน่วยงานของมหาวิทยาลัย พบปะพูดคุยกับรุ่นพี่นักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยมหิดลจะเข้ามาเป็นผู้มอบมุมมองใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นพบศักยภาพตนเองในการก้าวต่อไปเพื่อเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในสังคม ทั้งนี้ มีจำนวนนักเรียน โรงเรียน และผู้ปกครองลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมมากว่า 70,000 คน
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรม “Mahidol Admission & Mahidol Open House” แนะนำหลักสูตรจากส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องบรรยาย 217 – 219 อาคารสิริวิทยา อาคารอเนกประสงค์ และศูนย์การเรียนรู้มหิดล การบรรยาย “เจาะลึก TCAS 68” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา กิจกรรม “Mahidol Museum & Mahidol Tour” นั่งรถรางชมภูมิทัศน์โดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และ กิจกรรม “Mahidol Festival” ร่วมฟังคอนเสิร์ตจากรุ่นพี่มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้และทดลองฝึกปฏิบัติจริง เสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเลือกศึกษาต่อในอนาคต อาทิ “MU lover-tebrate” ผ่าตัวอย่างสัตว์ ย้อมและส่องดูเนื้อเยื่อใต้กล้องจุลฯ และกิจกรรมพิเศษ: อดีต ปัจจุบัน อนาคต กับดวงชะตา โดย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ “พา(โถ)โหนกระแส” สืบหาสาเหตุกันว่าเขาเป็นโรคอะไร โดยใช้เกมจับผิดภาพเป็นคำใบ้ของโรคนั้นๆ โดย ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ “ฐานถ่ายภาพ (Photography workshop) WALK-IN” โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กิจกรรมห้องปฏิบัติการจาก 7 สาขาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และกิจกรรม “ฐานวิชาการเทคนิคการแพทย์” ของคณะเทคนิคการแพทย์