วันที่ 2 ตุลาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพงษ์ จันทร์ใหม่มูล รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีเปิด Osaka University Institute for Sports & Global Health (OuiSH) ณ Osaka University Nakanoshima Center เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Prof. Dr. Ken Nakata, M.D., Director, Osaka University Institute for Sports & Global Health (OuiSH) และ Prof. Yamamoto Hitoshi, Ph.D., Vice Director at the Osaka University Nakanoshima Center ประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบูรณาการทางการศึกษาและงานวิจัย อาทิ การจัดเวทีเสวนาร่วม ความร่วมมือด้านโครงการวิจัยและการแลกเปลี่ยนนักวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังสนับสนุนเป้าหมายในการขับเคลื่อนภารกิจด้านสุขภาพโลก (Global Health) โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในด้านการพัฒนาสุขภาพโลกและการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนร่วมกัน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การจัดเวทีเสวนา Kick-Off Symposium โดย วิทยากรรับเชิญจากสถาบันชั้นนำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หารือร่วมกับ Prof. Dr. Ken Nakata, M.D., Director, Osaka University Institute for Sports & Global Health (OuiSH) ถึงโอกาสในการขยายความร่วมมือด้าน Global Health และ Health Promotion ระหว่างสองสถาบัน รวมถึงการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (AUN-HPN) กับประเทศญี่ปุ่น ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกด้วย
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ดำเนินงานในฐานะสำนักงานเลขาธิการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (ASEAN University Network – Health Promotion Network) โดย Osaka University ถือเป็นหนึ่งในสมาชิกสมทบของเครือข่าย AUN-HPN ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพในมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ตามกรอบแนวทางของมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน (AUN Healthy University Framework: HUF) ปัจจุบัน สมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (ASEAN University Network – Health Promotion Network) ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 55 แห่ง โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สมาชิกหลัก (Core Member) จำนวน 30 แห่ง และ สมาชิกสมทบ (Associate Member) จำนวน 25 แห่ง
ขอบคุณภาพจาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล