นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567

วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล จัดแข่งขันตอบปัญหาภาษาอังกฤษ “Game of English and Math (GEM) 2024”
February 2, 2024
มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุมชี้แจงงบประมาณต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วุฒิสภา
February 2, 2024

นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เนื่องใน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) โดยมี คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรม ฐานการพัฒนาประเทศยั่งยืน” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

โดยรางวัลการวิจัยแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยในปี พ.ศ.2567 มีนักวิชาการ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลสาขาต่าง ๆ ดังนี้

1.รางวัลผลงานวิจัย

– รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แก้วขาว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะ ผลงานเรื่อง “การคัดกรองและทดสอบหาตัวยาต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นพิษต่ำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก”

– ผลงานวิจัย ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ทนงชัย สิริอภิสิทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะ ผลงานเรื่อง “การใช้การเรียนรู้เชิงลึกแบบสามมิติร่วมกับการใช้ข้อมูลตำแหน่งพิกัดในการแยกส่วนหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าส่วนช่องท้องจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์”

– ผลงานวิจัย ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคณะ ผลงานเรื่อง “การจำลองสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการเดินของสุนัขในการแพร่ระบาดและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข” และผลงานเรื่อง “การค้นหาและแสดงข้อมูลโควิด-19 ในภาพการตรวจเอ็กซ์เรย์ทรวงอก”

2.รางวัลวิทยานิพนธ์

– รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ได้แก่ ดร.เขตภากร ชาครเวท คณะวิทยาศาสตร์ และคณะ ผลงานเรื่อง “ผลของการแลกเปลี่ยนแม่เหล็กทางตรงและอะตอมหนักต่อการผ่อนคลายทางแม่เหล็กของแม่เหล็กโมเลกุลเดี่ยวโลหะทรานซิชั่น”

– รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะ ผลงานเรื่อง “การอภิบาลขั้นสูงและเอ็นจีโอภิวัตน์ในประเทศไทย: การศึกษาเชิงสำรวจเกี่ยวกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรพัฒนาเอกชน (อพช.)”

– รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัญญพงศ์ เพชรร่มโพธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ ผลงานเรื่อง “วิธีการหาค่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปัญหาที่มีหลายวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการจัดการรายการสินทรัพย์หลากประเภท”

– รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาสาขาสังคมวิทยา ได้แก่ ดร.ณรงค์ศักดิ์ สุขมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานเรื่อง “กรอบดำเนินงานระบบนิเวศโดยการมีส่วนร่วมสำหรับธุรกิจน้ำประปาชุมชน”

– รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัคร สุประทักษ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผลงานเรื่อง “พัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิเคราะห์คลื่นสัญญาณจากร่างกายคน”

– รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาการศึกษา ได้แก่ ดร.นันทิดา นิลหุต คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานเรื่อง “ระบบหุ่นยนต์ฝึกหัดการผ่าตัดด้วยภาพเสมือนจริงแบบมีแรงสะท้อนกลับ: ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการทดสอบระบบ”

3.รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น

– รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะ ผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัลสำหรับการวิเคราะห์คุณภาพในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม”

– รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประกาศเกียรติคุณ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคณะ ผลงานเรื่อง “แอปพลิเคชันเชิงโต้ตอบที่ควบคุมด้วยการเคลื่อนไหวผ่านระบบ กล้องเพื่อพัฒนาทักษะการประสานระหว่างการเคลื่อนไหวของมือและการมองเห็นในกิจกรรมบำบัด”

– รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประกาศเกียรติคุณ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ ผลงานเรื่อง “เอไอไทยเจน: แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์”

“วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งนี้ มีคณะและส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในงานวันนักประดิษฐ์ 2567 ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 อีกทั้ง เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการเผยแพร่ ถ่ายทอดและขยายผลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่ผู้ใช้ประโยชน์ และสาธารณชน จูงใจให้นักประดิษฐ์เยาวชนไทยรุ่นใหม่ เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานประดิษฐ์คิดค้น และเป็นกลไกสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ให้เห็นความสำคัญของการประดิษฐ์คิดค้นอันมีคุณค่าและประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป