วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการโครงการเร่งรัดและขยายผลการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง CWIE+EEC Model Type A ในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามความร่วมมือดังกล่าว ร่วมเป็นสักขีพยานโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการลงนาม พร้อมด้วย อธิการบดี ผู้บริหาร ผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา 18 แห่ง ร่วมลงนามความร่วมมือ และนายสมบัติ รุ่งรัศมี ผู้อำนวยการกองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงานภาพรวมของโครงการ
โครงการเร่งรัดและขยายผลการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง CWIE+EEC Model Type A (CWIE+EEC Model Type A Master Class) ในสถาบันอุดมศึกษา เป็นความร่วมมือของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา กับสถาบันอุดมศึกษา 18 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษา และการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE โดยสอดคล้องกับการจัดการศึกษาโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในรูปแบบ EEC Model Type A ซึ่งการจัดการศึกษา ทั้ง 2 รูปแบบเป็นการมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพ และสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานได้จริง ตอบสนองความต้องการของตลาดงาน โดยเฉพาะสถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ และมีความต้องการกำลังคนระดับอุดมศึกษาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งเป็นการเพิ่มจำนวนหลักสูตรและส่งเสริมนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการตามแนวทางดังกล่าวต่อไป