วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าว “ศิริราชเปิดตัว 2 นวัตกรรมสุดล้ำ พัฒนาการวินิจฉัยเอ็กซเรย์ด้วย AI และรักษาโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุด้วย MRI และอัลตราซาวด์” โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงอัญชลี ชูโรจน์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ตรงธรรม ทองดี ภาควิชารังสีวิทยา รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ฑิตพงษ์ ส่งแสง ภาควิชารังสีวิทยา อาจารย์ แพทย์หญิงยุวดี พิทักษ์ปฐพี ภาควิชาอายุรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. นพ.ศรัณย์ นันทอารี ภาควิชาศัลยศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการร่วมพัฒนา ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
อาการโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุเรียกว่า Essential tremor หรือ ET ว่าผู้ป่วยมักจะมีอาการสั่นที่มือหรือแขนทั้งสองข้าง หรืออาจพบอาการสั่นที่ตำแหน่งอื่นร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายนั้นหากอาการสั่นรุนแรง อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมต่างๆ สาเหตุของการเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือส่วนหนึ่งของผู้ป่วย อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งการรักษาหลักของโรคนี้แบ่งออกเป็น คือ การรักษาด้วยยา การผ่าตัดสมองส่วน Thalamus (Thalamotomy) และการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนั้น จะเป็นการรักษาแบบ Invasive ดังนั้น เทคโนโลยีการรักษาโรคสั่นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพเทคโนโลยี MRI guided Focused Ultrasound (MRgFUS) มาช่วยพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรค จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรค ET ที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยารับประทาน ซึ่งเครื่อง MRgFUS (Exablate) นี้จะสามารถรักษาโรคทางด้าน Essential Tremor , Tremor Dominant Parkinson’s Disease ทางเลือกใหม่แทนการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ซึ่งเทคนิคหนึ่งของ Focused Ultrasound ที่นำมาใช้ร่วมกับเครื่อง MRI (MRgFUS) เทคนิคนี้ เป็นเทคนิคที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ยอมรับจากประเทศชั้นนำทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี และอื่นๆ ทำให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งที่ต้องการการรักษาได้อย่างแม่นยำ
สำหรับกลไกของการใช้เทคโนโลยี MR guided Focused Ultrasound (MRgFUS) นี้ โดยการยิงคลื่นเสียงความถี่สูงอัลตราซาวน์ โดยการรวมจุดไปที่โครงสร้างสมองตำแหน่งเดียว เพื่อลดอาการสั่นในผู้ป่วย โดยหลักการจากภาพ เราสามารถมองเห็นตำแหน่งที่ต้องการยิงคลื่นเสียงไปยังสมองได้อย่างชัดเจน แม่นยำ ในขนาดไม่เกิน 4 – 5 มิลลิเมตร ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทิศทางได้อย่างชัดเจน ลดอัตราความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถติดตามระดับของอุณหภูมิในตำแหน่งที่ทำการรักษาได้แบบ real time จากเครื่อง MRI ข้อดีของการรักษา คือ ช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นของคนไข้เร็วขึ้น ประมาณ 1 – 2 วัน คนไข้ก็สามารถกลับบ้านได้ ผลการรักษาเห็นได้ชัดเจน อาการสั่นดีขึ้น 70 – 80 % ทำให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้รักษาผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 28 มกราคม หลังจากการรักษาผู้ป่วยเคสแรกสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ขึ้น ทำให้โครงการหยุดชะงักไปเป็นเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง โครงการจึงเริ่มดำเนินการต่ออีกครั้ง โดยความร่วมมือของแพทย์และทีมงานผู้เกี่ยวข้อง จึงมีการเริ่มกลับมาทบทวนการทำงานของเครื่องทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และเริ่มรักษาผู้ป่วยรายต่อ ๆไป จนปัจจุบันมีคนไข้ที่รักษาโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุนี้ จำนวนทั้งสิ้น 6 ราย จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พร้อมด้วยศักยภาพของทีมรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้การดูแลรักษาผู้ป่วยประสบผลสำเร็จและจะช่วยประชาชนชาวไทยทุกคนให้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยี การรักษาโรคสั่นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพเทคโนโลยี MRI guided Focused Ultrasound (MRgFUS) และระบบปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก Chest X-ray เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
_______________________
ข้อมูลและภาพ : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป