สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล จัดงาน “Some One หนึ่งในหลาย” เวทีสาธารณะครั้งที่ 3 หัวข้อ “พลเมืองข้ามพรมแดน : ไทยในเทศ-เทศในไทย และความท้าทายของสังคมพหุวัฒนธรรม”

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศต่าง ๆ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 (Prince Mahidol Award Conference 2024)
April 3, 2023

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล จัดงาน “Some One หนึ่งในหลาย” เวทีสาธารณะครั้งที่ 3 หัวข้อ “พลเมืองข้ามพรมแดน : ไทยในเทศ-เทศในไทย และความท้าทายของสังคมพหุวัฒนธรรม”

วันที่ 2 เมษายน 2566 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัท สื่อดลใจ จำกัด และบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด จัดงาน Some One หนึ่งในหลาย” เวทีสาธารณะครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “พลเมืองข้ามพรมแดน : ไทยในเทศ-เทศในไทย และความท้าทายของสังคมพหุวัฒนธรรม” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คุณขวัญเรือน ถาวรทวีวงษ์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท สื่อดลใจ จำกัด คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด และคุณสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เปิดงานและร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ “SOME ONE หนึ่งในหลาย” เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันทางสังคมพหุวัฒนธรรม ณ ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดและแนะนำกิจกรรม “Some One-ASEAN Buddy: Let’s be Friends” ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมไทย-อาเซียน ด้วยกิจกรรม “Intercultural Education” ของเยาวชนไทยและเมียนมา ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือในการจัดงานและกิจกรรมจาก มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation: LPN), ศูนย์ฝึกอบรมภาษาไทย คอมพิวเตอร์ และส่งเสริมวัฒนธรรมจากแรงงานเพื่อแรงงานชาวเมียนมา มหาชัย (People to People Center: P2P), ศูนย์ฝึกอบรมภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และส่งเสริมสิทธิสตรีแรงงานหญิงชาวเมียนมา (MCLWR) และศูนย์ฝึกอบรมภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา (MEDC)

ภายในงานมีการเสวนา 2 เวที ในช่วงแรก ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวนำในหัวข้อ “หลากความหมาย หลายความต่าง ใน Some One หนึ่งในหลาย เพื่อพหุสังคมไทยที่ยั่งยืน” เวทีเสวนาที่ 1 หัวข้อ “พลเมืองข้ามพรมแดน : หลากมิติไทยในเทศ เทศในไทย หลังโควิด 19” โดยมี ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล คุณสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน และคุณวาทินี คุณเผือก สำนักงานเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์เกี่ยวกับการย้ายถิ่นของผู้คนในยุคหลังการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสิทธิ เสรีภาพ นโยบายเกี่ยวกับสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้ย้ายถิ่น ทั้งที่เป็นคนไทยซึ่งได้ย้ายออกไปพำนัก ณ ประเทศต่าง ๆ นอกราชอาณาจักรไทย และผู้คนจากประเทศอื่น ๆ ที่ได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ดำเนินรายการโดยคุณอดิศักดิ์ ศรีสม

เวทีเสวนาที่ 2 เป็นหัวข้อ “ฉันเป็นใครในแผ่นดินนี้ เสียงจากเยาวชนและครอบครัวข้ามชาติ : โอกาสของสังคมไทยในทัศนะประชาสังคม” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพหุวัฒนธรรมศึกษา (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์สิทธิพร เนตรนิยม อาจารย์ Thuzar Aung ว่าที่ร้อยตรีหญิง ศิริวรรณ สมศรี คุAung Myo Thein และผู้แทนเยาวชนเมียนมา ร่วมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ รวมไปถึงรับฟังเสียงของครอบครัวและเยาวชนข้ามชาติ และทัศนะจากนักวิชาการไทยถึงโอกาสที่สังคมไทยจะได้รับจากสถานการณ์การย้ายถิ่นข้ามชาติ นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากบุคคลในสารคดี Some One หนึ่งในหลาย จากตอน “คนไทยในต่างแดน” โดย คุณโสภาพร ควร์ซ ประธานสมาคมธารา ประเทศเยอรมนี ร่วมเสวนาถึงประสบการณ์ในฐานะที่เป็นคนไทยย้ายถิ่นคนหนึ่ง ผ่านระบบออนไลน์ ดำเนินรายการโดย คุณไอลดา พิศสุวรรณ

นอกจากนี้ มีการมอบสิทธิพิเศษในการสอบ MU – Thai Test ให้แก่เยาวชนชาวเมียนมาที่เข้าร่วมงาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการใช้ภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพและการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยที่ยั่งยืน พร้อมทั้ง การมอบเกียรติบัตรแก่เยาวชนไทยและเมียนมาในการเข้าร่วมกิจกรรม Some One-ASEAN Buddy: Let’s be Friends อีกด้วย

สารคดีชุด “Some One หนึ่งในหลาย” เป็นสารคดีที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่อง พหุสังคม พหุวัฒนธรรม โดยนำเสนอเรื่องราวความหลากหลายของวิถีชีวิตผู้คนต่างกลุ่มวัฒนธรรม หลากความคิด หลายความเชื่อ ผ่านทางมิติต่าง ๆ ในวงกว้าง โดยออกอากาศทางช่อง MCOT HD 30 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09:30-10:00 น. เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 เป็นต้นมา สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook Page และ YouTube Channel : สารคดี SOME ONE หนึ่งในหลาย” และ RILCA, Mahidol University รวมทั้งสามารถติดตามกิจกรรม Some One หนึ่งในหลาย เวทีสาธารณะที่ผ่านมาและครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้ผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

ขอบคุณภาพถ่าย : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล