วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมงานเวทีเสวนาการขับเคลื่อน “นโยบายปรีชาญาณนครกับการผลักดันนโยบายระดับประเทศ” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม เรื่อง “นโยบายการพัฒนาปรีชาญาณนคร” สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมทั้ง นำเสนอผลงานของโครงการ ณ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์
จากนั้น เป็นการเสวนาเวทีขับเคลื่อน “นโยบายปรีชาญาณนครกับการผลักดันนโยบายระดับประเทศ” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ พระธรรมวชิราจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ประธานดำเนินโครงการสร้างมหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “การศึกษาแบบบูรณาการสำหรับโลกอนาคต” ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายหัวข้อ “การแปลผลงานวิจัยให้ง่ายต่อการนำไปใช้เชิงนโยบาย” (research translation to policy) ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บรรยายหัวข้อ “การลดช่องว่างระหว่างนักวิจัยกับนักวางแผนนโยบาย” ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บรรยายหัวข้อ “งานวิจัยสู่ปฏิบัติการด้านการศึกษา” และนางสาวดวงใจ พิชิตณรงค์ชัย หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี สำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร บรรยายหัวข้อ “พิพิธภัณฑ์กับการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตร่วมกับชุมชน”
โครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม เรื่อง นโยบายการพัฒนาปรีชาญาณนคร เป็นโครงการที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคมงานบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์กับสังคม โดย กองแผนงาน มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ ให้แก่เด็กและเยาวชน ในลักษณะที่แตกต่างไปจากสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยบูรณาการทักษะ เรียนเด่น เล่นดี มีรายได้ พัฒนาทักษะทางสมองชั้นสูง ปลูกฝังทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อจะได้นำไปสู่การผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะต่อไป