มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมประชุมวิชาการประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 และการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) ครั้งที่ 1/2566
January 19, 2023
มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ EdPEx-SAR Workshop ประจำปีงบประมาณ 2566
January 19, 2023

มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

วันที่ 19 มกราคม 2566 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง “การดำเนินงานโครงการวิจัยทางคลินิก เภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพันธุศาสตร์ของยา Deferasirox ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิ์ สาธรสุเมธี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ผู้บริหาร และผู้แทนของ 4 สถาบัน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ องค์การเภสัชกรรม กรุงเทพมหานคร

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยา Deferasirox ข้อมูลด้านความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดพึ่งพาเลือดและไม่พึ่งพาเลือดที่มีภาวะเหล็กเกิน และศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางคลินิกที่มีความสัมพันธ์กับการตอบสนองต่อยา Deferasirox หรือระดับยาในพลาสมา รวมถึง ศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ และพัฒนาแบบจำลองทางเภสัชจลนศาสตร์เชิงสรีรวิทยา สำหรับทำนายระดับยาในเลือดของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดพึ่งพาเลือด ที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางคลินิกที่แตกต่างกัน โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิก เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาขับเหล็ก ซึ่งจะมีการศึกษาวิจัยในเชิงลึกถึงข้อมูลจีโนมของผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย นำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงโอกาสในการตอบสนองต่อยา และโอกาสในการเกิดการแพ้ยา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างฐานข้อมูลเภสัชพันธุศาสตร์ของยาขับเหล็กเป็นครั้งแรกในโลก