
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 9 ธันวาคม 2550 – 8 ธันวาคม 2554
ผมคิดว่าหอประชุมเป็นความฝันของชาวมหิดลทุกคน สมัยที่ผมเป็นบัณฑิตแพทย์ เรารับพระราชทานปริญญาบัตรที่หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีขนาดเล็ก ดูศักดิ์สิทธิ์ เก่า และได้รับการบูรณะไว้เป็นอย่างดี แต่ไม่ทันการขยายตัวของ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาจึงย้ายไปรับพระราชทานปริญญาบัตรที่สวนอัมพรเป็นสิบๆ ปี เพราะเรายังไม่มีพื้นที่อื่น ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เขาเริ่มด้วยการสร้างหอประชุมก่อน มหิดลเรามุ่งผลิตบัณฑิตและมุ่งผลิตผลงานวิจัยก่อนเป็นเรื่องหลัก การสร้างหอประชุมจึงเป็นเรื่องรอง
ในวาระที่อาจารย์พรชัย (ศาสตราจารย์นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ) ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มีแนวคิดว่า มหาวิทยาลัยมหิดลไม่ควรต้องร่อนเร่ไปหาสถานที่อื่นเพื่อรับพระราชทานปริญญาบัตรอีกต่อไป ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เราย้ายพื้นที่หลักของมหาวิทยาลัยมหิดลไปอยู่ที่ศาลายานานหลายปีแล้ว ผมคิดว่าเป็นความกล้าหาญของท่านอธิการบดีพรชัย ที่มุ่งจะสร้างหอประชุมให้ชาวมหิดลได้รับพระราชทานปริญญาบัตรในหอประชุมของเราเอง
หอประชุมนี้ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญคำนึงถึงความเป็นมหิดล และความเป็นไทย มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์หลายด้าน มิใช่เพียงแค่รับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียวและใช้เวลารวมแค่ 5 วันเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ต้องออกแบบหอประชุมเพื่อให้ใช้อีก 360 วันที่เหลือ ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม การศึกษาการเรียนรู้ และก่อให้เกิดรายได้ (Generate income) เข้ามา เพื่อจะบำรุงรักษาอาคารแห่งนี้ให้ใช้การได้ดีและมีความยั่งยืน จึงต้องวางแผนเรื่องนี้ก่อนของบประมาณ แบบแปลนก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่วาระอาจารย์พรชัย แต่ยังไม่มีงบประมาณ เมื่อผมดำรงตำแหน่งอธิการบดี การของบประมาณมีความชัดเจนขึ้น รัฐบาลมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งพึ่งตนเองมากขึ้น ในที่สุดการขอตั้งงบประมาณก่อสร้างหอประชุมนี้ รัฐบาลให้งบส่วนหนึ่งคือ 50% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 50% มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสมทบด้วยเงินรายได้ในวงเงินทั้งหมด 1,048 ล้านบาท
ก่อนการลงมือก่อสร้าง มหาวิทยาลัยได้นำคณะทำงานไปดูงานที่ Esplanade Theatre ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเรียนรู้โครงการที่เขาทำสำเร็จมาแล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของเรา รูปแบบการก่อสร้างของ Esplanade นั้น ภายในใช้แสดงคอนเสิร์ตได้ ข้างในเป็นรูปทรงคล้ายกล่องรองเท้าหุ้มด้วยหลังคาคล้ายเปลือกทุเรียน หอประชุมของเราก็คล้ายกันแต่หุ้มด้วยโครงสร้างที่แสดงความเป็นมหิดลและความเป็นไทย นอกจากนี้เรายังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการบริหารจัดการอย่างละเอียดด้วย สิ่งที่ได้และสำคัญที่สุดสำหรับมหิดลสิทธาคารเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ คือ การบริหารจัดการ เราจำเป็นต้องหากลุ่มบุคคลมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต้องทำงานในเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับ ต้องบริการสังคมด้วย สร้างรายได้ด้วย สร้างประโยชน์ให้แก่การศึกษาให้เยาวชนของชาติได้รับประโยชน์ด้วย ซึ่งมหิดลสิทธาคารมีคุณสมบัติพร้อม คือได้ออกแบบเป็นหอแสดงดนตรี (Concert Hall) ที่ดีและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคสามารถแสดงคอนเสิร์ตชั้นเยี่ยมในระดับโลก สามารถจัดการประชุม สัมมนาในระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี อาจมีปัญหาบ้างที่การเดินทาง เพราะศาลายาอยู่ค่อนข้างไกลจากกรุงเทพฯ แต่มหาวิทยาลัยได้ประสานกับกระทรวงคมนาคมแล้ว ในเรื่องรถไฟฟ้าซึ่งจะมีโครงการมาถึงศาลายาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แบบแปลนที่วางไว้ จะมีอาคารอื่นเป็นส่วนประกอบด้วย แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณจึงจำเป็นต้องสร้างหอประชุมก่อน แล้วอาคารอื่นๆค่อยสร้างตามมาทีหลัง ถ้าต้องการทีเดียวทั้งหมดอาจไม่ได้อะไรเลย “Think big, start small, Show small success along the way.” การบริหารมหาวิทยาลัย บางครั้งจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องได้ใจจากส่วนรวม บุคลากรส่วนใหญ่ควรเห็นชอบและเห็นด้วย มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการทำให้ทุกคนเห็นว่าหอประชุมแห่งนี้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ ในที่สุดทุกคณะยินดีที่จะลงเงินร่วมกันในการก่อสร้างอาคารนี้ให้สำเร็จขอชื่นชมคณะทำงานของท่านรองอธิการบดี สรนิต (รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม) ซึ่งแม้ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย แต่ก็สามารถฟันฝ่าจนสำเร็จผล คือได้หอประชุม และ Concert Hall ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค
การเลือกสถานที่ก่อสร้างหอประชุม ก็ค่อนข้างลำบาก แต่โชคดีที่มีคณะทำงานวางแผนแม่บท (Master plan) ที่ดี นำโดยท่านรองอธิการบดีอนุชาติ (รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี) ได้มีการวางกฎเกณฑ์ไว้ชัดเจน โดยเสนอขอสภามหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลที่ศาลายาจะมีพื้นที่สีเขียว 60% และพื้นที่สร้างอาคารคลุมดิน 40% หอประชุมได้จัดให้อยู่กลางของพื้นที่โซนวัฒนธรรม โดยมีอาคารศูนย์การเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระราชบิดาอยู่เป็นศูนย์กลางของศาลายา การจัดภูมิทัศน์ต้องมีการวางแผนอย่างถี่ถ้วน มีแนวคิดชัดเจน มีหลักการและหลักเกณฑ์ มองทุกอย่างเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งการจัดสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับการศึกษา การวิจัยเพื่อให้ทุกคนที่อยู่อาศัยที่ศาลายาสามารถอยู่และเรียนรู้ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน นับเป็นแบบอย่างที่ก่อประโยชน์ต่อคนภายนอกและสังคมไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นสถานที่ตั้งจึงอยู่ในตำแหน่งที่โล่ง ติดถนนใหญ่ เพื่อให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ได้มองเห็นหอประชุมนี้เด่นเป็นสง่า เห็นความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลโดยไม่ลดความสำคัญของพุทธมณฑลลง แต่กลมกลืนไปด้วยกัน สิ่งอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น ปฏิมากรรมดอกกันภัยมหิดล พระราชานุสาวรีย์ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ก็ตั้งอยู่ในแนวเดียวกัน ด้วยแบบของอาคารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะการก่อสร้างจึงทำได้ยาก อาคารส่วนใหญ่สร้างพื้น ผนังแล้วจึงสร้างหลังคา แต่อาคารนี้สร้างหลังคาก่อน แล้วค่อยสร้างส่วนที่เหลือ ทำให้มีนิสิต นักศึกษา อาจารย์และสถาปนิกมาดูงานที่โครงการก่อสร้างตลอดเวลา เมื่อสร้างเสร็จคาดว่าหอประชุมแห่งนี้จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
ในเรื่องชื่อของอาคารซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทางมหาวิทยาลัย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายข้อมูลเกี่ยวกับเจตนารมณ์ในการสร้างอาคารนี้ และได้รับพระราชทาน ชื่อ “มหิดลสิทธาคาร” หมายถึง อาคารที่มีความสำเร็จแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น คำว่า “มหิดลสิทธาคาร” ความหมายในภาษาอังกฤษ อาจไม่สื่อให้คนต่างประเทศรู้ว่าคืออะไร สภามหาวิทยาลัย จึงอนุมัติให้ใช้ชื่ออาคารแห่งนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “Prince Mahidol Hall” ซึ่งสามารถสื่อถึง สมเด็จพระราชบิดา Prince Mahidol และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นอย่างดี
ขอฝากถึงทุกคนว่า “มหิดลสิทธาคาร” คือฝันที่เป็นจริง คือความสง่างามและความภาคภูมิใจของชาวมหิดล ทุกคน ต้องช่วยกันบำรุงรักษา ช่วยกันบริหารจัดการให้ดีอย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ถือตามคำของพระราชบิดาที่พระราชทานไว้ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่าน ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” คนเราถ้ามุ่งทำแต่สิ่งที่ดี วันหนึ่งความดีจะปรากฏให้เห็นเอง