อธิบาย Home Chemotherapy แบบ ครบ จบในโพสต์เดียว

Published: 3 August 2022

Home Chemotherapy คืออะไร

การบริหารยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน หรือ Home Chemotherapy คือ ระบบบริการการบริหารยาเคมีบำบัดรูปแบบใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการบริหารยาเคมีบำบัดที่บ้านได้

เนื่องด้วยอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งที่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล (IPD) เพิ่มมากขึ้นทุกปี และโรงพยาบาลก็มีจำนวนเตียงไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดล่าช้า ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการรักษาลดลง สร้างความกังวลให้แก่ผู้ป่วยและญาติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงได้พัฒนาระบบบริการรูปแบบใหม่ขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง จนเกิดเป็นโครงการบริหารยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน (Home Chemotherapy RAMA Model : HCRM) ในปี พ.ศ. 2558

ใครบ้างที่สามารถเข้าโครงการ Home Chemotherapy ได้ ?

1. เป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ หรือ ได้รับยาฟลูออโรยูราซิล หรือ 5-FU แบบต่อเนื่อง

2. เป็นผู้ป่วยที่ต้องใส่สายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง ได้แก่ พอร์ต พิคไลน์ เป็นต้น

3. เป็นผู้ป่วยที่มีที่พักอาศัยไม่ห่างไกลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี หรืออยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล (หรือขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของโรงพยาบาล)

4. เป็นผู้ป่วยและญาติที่ยินดีและมีความพร้อมในการดูแลตนเองและอุปกรณ์การให้ยาเคมีบำบัดที่บ้านได

การเข้ารับบริการ Home Chemotherapy

เดิมการเข้ารับการรักษามะเร็งด้วยการบริหารยาเคมีบำบัด 1 คอร์ส จะต้องให้ยาเคมีบำบัดจำนวน 12 ครั้ง และเข้ารับบริการบริหารยาเคมีบำบัดจากบุคลากรทางการแพทย์ โดยเข้าไปเป็นผู้ป่วยใน(IPD) ที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ในโครงการ Home Chemotherapy จะมีขั้นตอนการเข้ารับบริการที่ต่างกันออกไป ดังนี้

ขั้นตอนการรับบริการ Home Chemotherapy
เมื่อผู้ป่วยมะเร็งเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยวิธีบริหารยาเคมีบำบัดเริ่มต้นในครั้งที่ 1 ของคอร์สการรักษา ผู้ป่วยจะนอนรับยาในหอผู้ป่วยใน โดยใช้อุปกรณ์บริหารยาเคมีบำบัดที่เรียกว่า อีซี่ปัมพ์ (Elastomeric infusion pump) และมีขั้นตอนเข้ารับบริการ ดังนี้

1. ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อรับการอธิบายเกี่ยวกับการรักษา
2. ‘พยาบาลหน่วยมะเร็งและเภสัชกรคลินิก’ แนะนำการปฏิบัติตัวขณะบริหารเคมีบำบัดที่บ้าน การดูแลอุปกรณ์และผลข้างเคียงของยา
3. ‘พยาบาลประจำหอผู้ป่วย’ ให้การบริหารยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วย
4. ‘พยาบาลประสานงานโครงการ Home Chemotherapy’ ประเมินความพร้อมและความสามารถในการดูแลของผู้ป่วยและญาติ
5. ‘พยาบาลเยี่ยมบ้าน’ ประเมินความต้องการเรื่องการเยี่ยมและดูแลที่บ้าน

เมื่อผู้ป่วยผ่านการประเมินจากทีมแพทย์และเข้าโครงการ Home Chemotherapy ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่บ้านในครั้งที่ 2 และต่อเนื่องไปตลอดจนครบรอบคอร์สการรักษา

1. ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อรับการอธิบายเกี่ยวกับการรักษา
2. ‘พยาบาลหน่วยมะเร็งและเภสัชกรคลินิก’ ประเมินการปฏิบัติตัวในการบริหารเคมีบำบัดที่บ้าน การดูแลอุปกรณ์และผลข้างเคียงของยา
3. ‘พยาบาลประจำหน่วยบำบัดระยะสั้น’ ให้บริการบริหารยาเคมีบำบัดแบบผู้ป่วยนอก และบรรจุยา 5-FU ในอุปกรณ์บริหารยาให้ผู้ป่วยนำกลับบ้าน
4. ขณะที่ผู้ป่วยบริหารยาเคมีบำบัดที่บ้าน ‘พยาบาล’ โทรศัพท์ประเมินอาการทุกวัน ผู้ป่วยโทรเบอร์สายด่วนขอคำแนะนำเมื่อมีปัญหาการบริหารยาที่บ้าน
5. เมื่อบริหารยาหมดแล้ว มารับการถอดอุปกรณ์และรับการดูแลสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (ฉีดยาละลายลิ่มเลือดเฮพาริน) ที่โรงพยาบาล หรือ ‘พยาบาลเยี่ยมบ้าน’ ไปถอดอุปกรณ์ให้ที่บ้าน (ในกรณีติดต่อไว้ล่วงหน้าแล้ว)

ผู้ป่วยมะเร็งและญาติได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้

1. ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับครอบครัวที่บ้านตามปกติ หรือไปทำงานได้
2. ผู้ป่วยได้รับยาตรงตามรอบการรักษา
3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาล
4. สามารถนอนหลับตามปกติได้ ไม่มีอุปกรณ์รบกวน
5. ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยเก็บอุปกรณ์ยาอยู่ในเสื้อผ้าหรือกระเป๋าคาด
6. ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ แต่หลีกเลี่ยงผิวหนังบริเวณที่แทงเข็มพอร์ต

หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาในการบริหารยาเคมีบำบัด สามารถโทรสายด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เบอร์โทร: 09 1774 6381 หรือ 0 2200 3614-5 ได้ทันที


ขอขอบคุณ

  • อ.นพ. พิชัย จันทร์ศรีวงศ์
    สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
    คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ภญ. ปถมาภรณ์ ตั้งธีระคุณ
    คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
    Mahidol University
  • พว. นพกาญจน์ วรรณการโสภณ
    คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
    Mahidol University

Page View: 2,505 times

Related Posts

2 July 2025

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs
18 June 2025

ประกาศรางวัล 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อยอดใน Mahidol SDGs Impact Challenge 2025: Grand Pitching

ต่อยอดนวัตกรรมจาก 5 ทีม ด้วยรางวัลทุนสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

Featured Article

2 July 2025

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs
18 June 2025

ประกาศรางวัล 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อยอดใน Mahidol SDGs Impact Challenge 2025: Grand Pitching

ต่อยอดนวัตกรรมจาก 5 ทีม ด้วยรางวัลทุนสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

We use cookies to improve performance and good experience using your website. You can study details at Privacy Policy And you can manage privacy setting at Setting Page

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top
Scroll to Top