การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment) หรือ ‘HTA’ คือ การวิเคราะห์และประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์
เช่น วัคซีน ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ หัตถการ การตรวจวินิจฉัยรวมถึงรูปแบบการจัดบริการ และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาใช้ในระบบสุขภาพเพื่อให้ได้ชุดข้อมูลที่สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสุขภาพของประเทศได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

การนําเทคโนโลยีด้านสุขภาพต่าง ๆ มาใช้ในเชิงนโยบายจะต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานหรือข้อมูลที่เชื่อถือได้ และศึกษาความเป็นไปได้ที่ประเทศจะนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั้นมาใช้กับระบบสุขภาพ โดยคำนึงถึงประสิทธิผล ความปลอดภัยของประชาชน ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบทางสังคม ความเป็นธรรม และจริยธรรมทางการแพทย์ งานวิจัย HTA จึงเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
HTA ได้ถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage หรือ UHC) ให้กับประชาชนไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านนโยบายสุขภาพแห่งชาติผ่าน ‘กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ หรือการพิจารณาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐนั่นเอง
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จาก HTA เป็นหลักฐานทางวิชาการที่สำคัญที่นำมาใช้ในการปรับปรุงรายการยา หรือการบรรจุรายการยาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นรายการยาอ้างอิงอันเป็นสิทธิประโยชน์ด้านยาสำหรับประชาชนไทย ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้มากขึ้น ตลอดจนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องยาที่จำเป็นต่อการรักษาโรคให้แก่ประชาชน
ด้วยเหตุนี้ ‘HTA’ จึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่ช่วยให้ผู้บริหารและบุคลากรด้านสาธารณสุขสามารถจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพ สําหรับแก้ปัญหาสาธารณสุขในระดับนโยบายของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วยคณาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถด้าน HTA ซึ่งได้ถ่ายทอดความรู้ผ่านหลักสูตรและการอบรมด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ รวมถึงมีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำงานวิจัยทางด้าน HTA เช่น การพัฒนาคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ การพัฒนารายการต้นทุนมาตรฐาน การพัฒนาเพดานความคุ้มค่า การพัฒนาค่าอรรถประโยชน์สำหรับประชากรไทย รวมถึงได้ทำการวิจัยที่ช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference