
หากคุณคุ้นเคยหรือคุ้นหูกับชื่อย่านศาลายา ไม่ว่าจะเพราะเป็นที่ตั้งของพุทธมณฑล หรือมหาวิทยาลัยมหิดลก็ตาม
คุณควรทำรู้จักกับคลองมหาสวัสดิ์ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของพื้นที่แห่งนี้
เราจึงอยากชวนคุณไปทำความรู้จักกับ ‘พิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี หอประวัติศาสตร์และวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลางและภาคตะวันออก’ แหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคลองมหาสวัสดิ์และประวัติศาสตร์ในพื้นที่นี้ ผ่านการเล่าเรื่องของผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
นั่นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
มาดูกันว่า เราได้เรียนรู้อะไรจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากที่นี่บ้าง

1. สิ่งที่เราเรียนรู้ข้อแรก – ก่อนที่เราจะไปรู้จักคนอื่น เราควรจะรู้จักตัวเองก่อน
Q : ที่มาที่ไปของพิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี
A : พิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ได้ทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดลมา 17 ปี แล้วเราก็ลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นคุณค่า เห็นประวัติศาสตร์
ในที่สุดเราก็เลยตัดสินใจว่ามันควรจะต้องมีพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องคลองมหาสวัสดิ์อย่างจริงจังสักที ในปีที่ครบรอบ 160ปี คลองมหาสวัสดิ์ เราเลยใช้เงินของเราเองซื้อที่ดินและก่อสร้างที่แห่งนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จริงจังในเรื่องของคลองมหาสวัสดิ์
ถามว่าทำไมต้องเป็นรูปแบบพิพิธภัณฑ์ เพราะพอเรามาค้นเรื่องประวัติศาสตร์คลองมหาสวัสดิ์ก็พบว่ามีความน่าสนใจมาก มีที่มา มีเรื่องราว มีเรื่องเล่า เราก็เลยคิดว่าควรจะเพิ่มให้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เข้าไปด้วย
ขณะเดียวกันก็ควรมีแหล่งที่สามารถจะบอกเล่ากับชุมชนให้เขารู้ประวัติศาสตร์ของถิ่นอาศัยของตนเองได้ด้วย เพราะเรามองว่าก่อนที่เราจะไปพัฒนาที่อื่น ก่อนที่เราจะไปรู้จักคนอื่น เราควรจะรู้จักตัวเอง รู้จักชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ก่อน และในฐานะที่เป็นนักวิชาการในสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ เราควรต้องทำหน้าที่นี้ ก็เลยเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา

2. สิ่งที่เราเรียนรู้ข้อที่สอง – ไขความเข้าใจผิดให้ถูกต้องด้วยข้อมูลที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เคารพประวัติศาสตร์ในทุก ๆ เวอร์ชั่นที่ชาวบ้านเล่า
Q : ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์
A : เราเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องของคลองมหาสวัสดิ์ที่แรกที่คนนึกถึง เรามีข้อมูล มีเรื่องราวของคลองมหาสวัสดิ์มากที่สุดในพื้นที่นี้
สิ่งของที่ไม่ใช่ของสะสม ไม่ใช่ของที่คนให้มา แต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ คือ สิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ที่เราภูมิใจเป็นรอยประทับมือจากชาวมหาสวัสดิ์ โดยเราให้ชาวบ้านที่มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลผู้ร่วมสร้างคลองมหาสวัสดิ์ มาประทับรอยมือบนเฟรมผ้าใบในวันงานเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ สิ่งนี้กลายเป็นของที่มีคุณค่าทางใจมาก
เพราะไม่ใช่แค่การประทับมือ แต่สร้างความประทับใจให้ผู้คนด้วย อีกสิ่งที่เราพยายามจะให้เกิดขึ้นก็คือ เราพยายามที่จะไขความดํามืดของเรื่องราวบางอย่าง หรือไขความเข้าใจผิดให้ถูกต้องด้วยข้อมูลที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
แล้วขณะเดียวกันเราก็เคารพประวัติศาสตร์ในทุก ๆ เวอร์ชั่นที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาด้วย

3. สิ่งที่เราเรียนรู้ข้อที่สาม – ทุกพื้นที่มีความหมาย มีเรื่องราว มีผู้คนที่เกิดมาก่อนหน้านี้
พยายามเข้าใจอดีตด้วยวิธีคิดแบบอดีต อย่าเอาแนวคิดปัจจุบันไปตัดสินอดีต
Q : การสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้เป็นของทุกคน
A : เราพยายามทําให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ของทุกคนที่อาจจะมีความชอบหลากหลาย บางคนอาจไม่ได้ชอบประวัติศาสตร์ แต่บางคนอาจจะชอบรถ บางคนอาจจะชอบกิน บางคนอาจจะชอบต้นไม้ เราพยายามให้มีทางเลือกที่หลากหลายให้กับคนที่มาพิพิธภัณฑ์ของเรา
เมื่อเวลามาที่นี่ก็อยากให้รู้ว่า พื้นที่ทุกพื้นที่มีความหมาย มีเรื่องราว มีผู้คน ที่เกิดมาก่อนหน้านี้ พยายามเข้าใจอดีตด้วยวิธีคิดแบบอดีต อย่าเอาปัจจุบันไปตัดสินอดีต เราก็เลยพยายามมุ่งหมายให้เขารู้จักบริบทในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจให้เขากลับไปอยากเล่าเรื่องของตัวเองอวดคนอื่นบ้างเหมือนกัน
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่พิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี ถ้าอยากรู้ว่าตัวคุณเองจะได้เรียนรู้อะไรจากที่นี่ ต้องลองไปสัมผัสและเรียนรู้ด้วยตัวคุณเอง
ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ๆ ได้ที่ MUSEF Conference