เปิดเส้นทางระบบยาและเวชภัณฑ์ไทยในห่วงโซ่อุปทานสุขภาพแห่งชาติ

Published: 23 August 2023

เคยสงสัยกันไหมว่า…กว่ายา 1 เม็ดในมือของเรา หรือวัคซีนสักเข็มที่กำลังถูกฉีดเข้าไปในร่างกายของเรานั้น มันมาจากไหนกันนะ?  

เปิดบทสัมภาษณ์คนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสุขภาพของประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่จะพาเราไปรู้จักกับการเดินทางของยา เวชภัณฑ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงมือของผู้บริโภค หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘ห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ’ ที่จะเปลี่ยนโฉมการให้บริการของโรงพยาบาลและเพิ่มขีดศักยภาพของการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

Q: ห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ (Healthcare Supply Chain) คืออะไร

A: เวลาพูดถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เราต้องพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างที่มาจากจุดเริ่มต้นไปจนกระทั่งถึงจุดสิ้นสุด ซึ่งเรียกว่า ‘ต้นน้ำ’ กับ ‘ปลายน้ำ’

แล้วมีอะไรที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานสุขภาพบ้าง…ก็คือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับสุขภาพของเรา เช่น ยา เวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนสำลี เข็มฉีดยา หรือของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใช้กับสุขภาพเรา ดังนั้นห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ (Healthcare Supply Chain) ก็คือการเดินทางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ โดยในท้ายที่สุดมาใช้กับสุขภาพของเรา

‘ห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ’ จะต่างจากห่วงโซ่อุปทานทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือแพทย์กลุ่มนี้ ผู้ป่วยไม่ได้เป็นคนกำหนดความต้องการใช้ (Demand) ของผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ แต่จะมาจากข้อมูลต่าง ๆ จากผู้ให้บริการ แม้กระทั่งคลังของที่มี หรือโรคของผู้ป่วย

ปัญหาของประเทศเรา คือ ข้อมูลผู้ป่วยอยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลของผู้ให้บริการหรือคุณหมออยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลยาซึ่งเป็นข้อมูลมหาศาลของประเทศนี้อยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องมือแพทย์ก็อยู่อีกที่หนึ่ง โดยแต่ละฐานข้อมูลไม่เกิดการผสานเข้าด้วยกันทั้งหมดได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งถึงปลายน้ำ ทำให้เรากำหนดไม่ได้เลยว่าอุปสงค์หรือความต้องการ (Demand) กับอุปทาน (Supply) มีจำนวนเท่าไหร่

Q: จุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสุขภาพแห่งชาติ

A: เริ่มแรกเกิดจากการที่เข้าไปทำการคาดการณ์ความต้องการยาของผู้ป่วย (Demand Forecasting) ว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้เข้ามาต้องการยาจำนวนเท่าไหร่ เราควรจะสต็อกของไว้เท่าไหร่ ขนส่งอย่างไร โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 2 ฝ่าย คือ ‘ผู้ขนส่ง’ กับ ‘ผู้รับ’ ก็คือโรงพยาบาล และเจอปัญหาว่าขนส่งหรือผู้ผลิตเรียกชื่อยาชื่อหนึ่งหรือรหัสที่ใช้ในคอมพิวเตอร์เป็นรหัสหนึ่ง พอมาถึงโรงพยาบาลก็เป็นอีกรหัสหนึ่ง! ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์คุยกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ไม่เหมือนค้าปลีกค้าส่งทั่วไป

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ คือ ความเชื่อมโยงของข้อมูลแบบอัตโนมัติ จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรให้รหัสยาทั้งประเทศเป็นรหัสเดียวกัน พอสำรวจก็พบว่ามาตรฐานรหัสยาของประเทศไทยมีเยอะมาก การมีมาตรฐานเยอะ ๆ นั้นแปลว่า ‘ไม่มีมาตรฐาน’ เราจึงเชื่อมฐานข้อมูลรหัสยากลุ่มนั้นเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็จะได้รหัสยาที่เหมือนกันทั้งประเทศ และเชื่อมโยงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เหมือนเวลาเรากดตู้ ATM ของธนาคารที่เราใช้ตู้ไหนก็ได้ เพราะใช้มาตรฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เดียวกันทั่วประเทศ

พอข้อมูลยา ข้อมูลเวชภัณฑ์ ข้อมูลผู้ป่วย ฯลฯ เริ่มเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ จากนั้นก็เลยคิดต่อคือจะทำอย่างไรให้มันสอบย้อนกลับได้ เราบริโภคยาเข้าไปตัวหนึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่ามาจากไหน แต่เมื่อเรามีข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดแล้ว ก็จะสอบกลับได้ว่ายาตัวนั้นมาจากไหนและไปที่ไหนมาบ้าง

เรารวมตัวกันทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสาขาโลจิสติกส์ อุตสาหการ ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องกล ชีวการแพทย์ และก็อีกหลายส่วนเข้ามาช่วยกันทำตรงนี้ ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

Q: ‘ความท้ายทาย’ และ ‘ความสำเร็จ’

A: เราเริ่มโครงการนี้ประมาณ 13 ปีที่แล้ว แรกเริ่มเลยคือ ‘ความเข้าใจ’ และข้อมูลทุกอย่างเราต้องการการประสานงาน และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กว่าเราจะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจในการขอข้อมูลทั้งหมดมาผสานเข้าด้วยกัน โดยที่ระบบของประเทศไทยเป็นคนละระบบกันหมดเลย เพราะฉะนั้นความร่วมมือ (Collaboration) ตรงนี้จึงยากมาก

เราจะต้องแก้ทั้งตัวระบบ แก้ทั้งความเข้าใจต่าง ๆ ว่าจะใช้ข้อมูลอะไรป้อนเข้าไปในระบบเพื่อทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แล้วก็ผสานทุกส่วนเข้าด้วยกัน ให้เป็นระบบหนึ่งเดียวเชิงบูรณาการ….อันนี้คือความยากที่สุด

หลังจากทำไปประมาณสัก 50% ของประเทศ…โควิด 19 ก็เข้ามา เราจึงใช้องค์ความรู้ทั้งหมดนี้ไปใช้งานกับสถานการณ์จริง ทำให้เราสามารถติดตามและสอบกลับวัคซีนโควิดได้ทั้งหมด คือตั้งแต่ลงจากเครื่องบินมา เราทราบได้หมดว่าวัคซีนโควิดตัวนี้ผลิตจากไหน ลงมาจากเครื่องบินแล้วนะ เดินทางมาด้วยรถขนส่งไหน เดินทางมาที่คลังกระจายสินค้าที่ไหน ใครรับ กระจายไปภาคไหน โรงพยาบาลอะไร และนำไปฉีดให้กับใคร จากนั้นก็ยิงข้อมูลนั้นเข้า ‘แอปพลิเคชันหมอพร้อม’ ซึ่งจะสอบกลับได้ว่าวัคซีนโควิดที่พวกเราถูกฉีดเข้าไปมันมาจากไหนจากที่เล่ามาทั้งหมด

โครงการนี้ทำให้ต้นทุนทางโลจิสติกส์ลดลง ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจมากขึ้น แล้วที่สำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัย และความแม่นยำที่ผู้ป่วยจะได้รับยาตัวนั้นอย่างไม่ผิดพลาด โดยสามารถจ่ายยาตรงตามความต้องการต่อโรคจริง ๆ

ลดต้นทุน ลดความผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการโรงพยาบาลในประเทศไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ

ติดตามอัปเดตเรื่องราวใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference


ขอขอบคุณ

  • รศ.ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย
    หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์
    Mahidol University

Page View: 3,012 times

Related Posts

2 July 2025

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs
18 June 2025

ประกาศรางวัล 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อยอดใน Mahidol SDGs Impact Challenge 2025: Grand Pitching

ต่อยอดนวัตกรรมจาก 5 ทีม ด้วยรางวัลทุนสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

Featured Article

2 July 2025

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs
18 June 2025

ประกาศรางวัล 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อยอดใน Mahidol SDGs Impact Challenge 2025: Grand Pitching

ต่อยอดนวัตกรรมจาก 5 ทีม ด้วยรางวัลทุนสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

We use cookies to improve performance and good experience using your website. You can study details at Privacy Policy And you can manage privacy setting at Setting Page

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top
Scroll to Top