เจาะเบื้องหลัง ‘HTA’ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยจากระบบสุขภาพแห่งชาติ

Published: 28 February 2023

รู้หรือไม่?

สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น ยาฟรี หรือวัคซีนฟรี เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือแม้แต่มาตรการทางสาธารณสุข และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ล้วนเป็นผลมาจากการดำเนินงานด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health technology assessment) หรือที่เรียกว่า ‘HTA’

สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น ยาฟรี หรือวัคซีนฟรี เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือแม้แต่มาตรการทางสาธารณสุข และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ล้วนเป็นผลมาจากการดำเนินงานด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health technology assessment) หรือที่เรียกว่า ‘HTA’

HTA เป็นกระบวนการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบของการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาใช้ในระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งชุดข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือสูง ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ยา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดความคุ้มค่าในระยะยาว

แล้วใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญกันล่ะ ?

เจาะเบื้องหลังกระบวนการทำงานด้าน HTA ผ่านบทสัมภาษณ์ของคณาจารย์คนสำคัญทั้ง 4 ท่าน จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์, รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรอาทร ริ้วไพบูลย์, รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงมนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงศิตาพร ยังคง อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม

Q: บทบาทสำคัญของเภสัชศาสตร์ที่มีต่อ “นโยบายระบบสุขภาพแห่งชาติ”

A: ส่วนแรกคือ เป็น ‘คณะทํางานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข’ ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานนี้ทําหน้าที่ประเมินคุณภาพและประเมินความคุ้มค่าด้านยาที่จะนำเข้ามาสู่รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเสนอให้ผู้กําหนดนโยบายพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มรายการยาใหม่ ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่

ส่วนที่สองคือ เป็น ‘คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค’ ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยในช่วงที่ผ่านมาเรามีวัคซีนโควิดหลายตัวที่สามารถนำเข้ามาใช้ได้ คณะอนุกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่นําเสนอข้อมูลวิชาการ เพื่อให้ผู้กําหนดนโยบายตัดสินใจว่าวัคซีนตัวไหนควรจะนํามาใช้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด

ซึ่งจากผลงานการวิจัยและการตัดสินใจนำรายการยาเข้ามาสู่รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ก็จะทำให้คนไทยทุกคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพไม่ต้องจ่ายเงินและรับยาฟรีโดยเท่าเทียมกัน

Q: ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจาก HTA ?

A: รายละเอียดข้อมูล HTA สามารถชี้นำแนวทางให้กับผู้กําหนดนโยบายได้ว่า…จะเอาไปใช้ในการปฏิบัติจริงได้อย่างไร ควรจะวางระบบแบบไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด อันจะทำให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบสุขภาพแห่งชาติได้

ไม่ใช่แค่ตัดสินใจว่า…จะเอายาหรือว่ามาตรการสุขภาพเหล่านั้นเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพแล้วจบ หลังจากนั้นจะต้องมีการออกแบบระบบที่ทําให้การตัดสินใจไม่ได้หยุดลงแค่ในวันที่ประชุมของคณะกรรมการ โดยข้อมูล HTA เหล่านี้จะระบุแนวทางให้ด้วยว่า ‘ทําแบบไหนถึงจะดีและมีประสิทธิภาพ’

หรือ…อาจมีรายละเอียดข้อกําหนดที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานของ HTA ซึ่งผู้กําหนดนโยบายเห็นควรว่าจะเอาไปใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างไรถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบสุขภาพของประเทศไทย

ซึ่งหมายถึงประโยชน์สูงสุดของคนไทยที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับจากนโยบายด้านสุขภาพนั่นเอง

Q: เภสัชศาสตร์และการขับเคลื่อนระบบสุขภาพแห่งชาติที่ยั่งยืนในอนาคต 

A: ในอนาคตก็จะยังคงผลิตผลงานวิจัยทางด้าน HTA เป็นหลักต่อไป เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่นําไปสนับสนุนการตัดสินใจในเชิงนโยบายให้กับหลาย ๆ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลิตนักวิจัยที่ทำงานด้าน HTA ให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน อีกทั้งขยายขอบเขตไปจนถึงประเทศแถบแอฟริกา และจะขยายขอบเขตออกไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างนักวิจัยที่สามารถทำงานด้าน HTA ได้มากขึ้น และตอบโจทย์ให้กับประเทศที่กําลังจะจัดตั้งหน่วยงานที่ดำเนินงาน HTA ให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกว่า UHC (Universal Health Coverage)

ขณะเดียวกันก็สร้างความยั่งยืนของระบบสุขภาพแห่งชาติในระยะยาว เพราะว่าเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพที่นําเข้ามาให้ประชาชนจะเป็นเทคโนโลยีที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และรัฐก็จะไม่ล้มละลายจากการลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว อีกทั้งยังช่วยให้รัฐสามารถจัดลำดับความสำคัญของของนโยบายสุขภาพแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเป็นระบบ

HTA จะทำให้นโยบายของระบบสุขภาพแห่งชาติอันเป็นสิทธิประโยชน์โดยชอบธรรมของประชาชนตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความปลอดภัย ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงประเด็นทางจริยธรรม ซึ่งทําให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระบบสุขภาพเอง แล้วก็ความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอีกด้วย

Q: ความสำคัญของ HTA

A: HTA เป็นเครื่องมือสําคัญที่จะทําให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากว่าเมื่อเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างการรักษาก็จะฟรี

แต่ว่าภายใต้นโยบายด้านงบประมาณที่มีจํากัดของแต่ละประเทศ จะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อที่จะทําให้ครอบคลุมและสามารถทําให้ยั่งยืนอยู่ได้โดยที่ไม่ล้มละลาย สามารถที่จะคุ้มครองประชาชนได้ ก็จะต้องมีการนําเอาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือ HTA เข้ามา

ซึ่งส่วนหนึ่งของ HTA ก็จะเป็นการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อที่เราจะคัดเลือกยาหรือเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในประเทศ นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนของคณะทํางานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในการกําหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขสําหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference


ขอขอบคุณ

  • รศ.ดร.ภญ. อุษา ฉายเกล็ดแก้ว
    รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • รศ.ดร.ภญ. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์
    ภาควิชาเภสัชกรรม
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • รศ.ดร.ภก. อาทร ริ้วไพบูลย์
    ภาควิชาเภสัชกรรม
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผศ.ดร.ภญ. ศิตาพร ยังคง
    ภาควิชาเภสัชกรรม
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Page View: 112 times

Related Posts

2 July 2025

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs
18 June 2025

ประกาศรางวัล 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อยอดใน Mahidol SDGs Impact Challenge 2025: Grand Pitching

ต่อยอดนวัตกรรมจาก 5 ทีม ด้วยรางวัลทุนสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

Featured Article

2 July 2025

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs
18 June 2025

ประกาศรางวัล 5 ทีมที่ได้รับทุนต่อยอดใน Mahidol SDGs Impact Challenge 2025: Grand Pitching

ต่อยอดนวัตกรรมจาก 5 ทีม ด้วยรางวัลทุนสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

We use cookies to improve performance and good experience using your website. You can study details at Privacy Policy And you can manage privacy setting at Setting Page

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top
Scroll to Top