เจาะเบื้องหลัง ‘HTA’ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยจากระบบสุขภาพแห่งชาติ

เผยแพร่แล้ว: 28 กุมภาพันธ์ 2566

รู้หรือไม่?

สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น ยาฟรี หรือวัคซีนฟรี เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือแม้แต่มาตรการทางสาธารณสุข และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ล้วนเป็นผลมาจากการดำเนินงานด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health technology assessment) หรือที่เรียกว่า ‘HTA’

สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น ยาฟรี หรือวัคซีนฟรี เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือแม้แต่มาตรการทางสาธารณสุข และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ล้วนเป็นผลมาจากการดำเนินงานด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health technology assessment) หรือที่เรียกว่า ‘HTA’

HTA เป็นกระบวนการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบของการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาใช้ในระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งชุดข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือสูง ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ยา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดความคุ้มค่าในระยะยาว

แล้วใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญกันล่ะ ?

เจาะเบื้องหลังกระบวนการทำงานด้าน HTA ผ่านบทสัมภาษณ์ของคณาจารย์คนสำคัญทั้ง 4 ท่าน จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอุษา ฉายเกล็ดแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์, รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรอาทร ริ้วไพบูลย์, รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงมนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงศิตาพร ยังคง อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม

Q: บทบาทสำคัญของเภสัชศาสตร์ที่มีต่อ “นโยบายระบบสุขภาพแห่งชาติ”

A: ส่วนแรกคือ เป็น ‘คณะทํางานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข’ ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานนี้ทําหน้าที่ประเมินคุณภาพและประเมินความคุ้มค่าด้านยาที่จะนำเข้ามาสู่รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเสนอให้ผู้กําหนดนโยบายพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มรายการยาใหม่ ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่

ส่วนที่สองคือ เป็น ‘คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค’ ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยในช่วงที่ผ่านมาเรามีวัคซีนโควิดหลายตัวที่สามารถนำเข้ามาใช้ได้ คณะอนุกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่นําเสนอข้อมูลวิชาการ เพื่อให้ผู้กําหนดนโยบายตัดสินใจว่าวัคซีนตัวไหนควรจะนํามาใช้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด

ซึ่งจากผลงานการวิจัยและการตัดสินใจนำรายการยาเข้ามาสู่รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ก็จะทำให้คนไทยทุกคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพไม่ต้องจ่ายเงินและรับยาฟรีโดยเท่าเทียมกัน

Q: ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจาก HTA ?

A: รายละเอียดข้อมูล HTA สามารถชี้นำแนวทางให้กับผู้กําหนดนโยบายได้ว่า…จะเอาไปใช้ในการปฏิบัติจริงได้อย่างไร ควรจะวางระบบแบบไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด อันจะทำให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบสุขภาพแห่งชาติได้

ไม่ใช่แค่ตัดสินใจว่า…จะเอายาหรือว่ามาตรการสุขภาพเหล่านั้นเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพแล้วจบ หลังจากนั้นจะต้องมีการออกแบบระบบที่ทําให้การตัดสินใจไม่ได้หยุดลงแค่ในวันที่ประชุมของคณะกรรมการ โดยข้อมูล HTA เหล่านี้จะระบุแนวทางให้ด้วยว่า ‘ทําแบบไหนถึงจะดีและมีประสิทธิภาพ’

หรือ…อาจมีรายละเอียดข้อกําหนดที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานของ HTA ซึ่งผู้กําหนดนโยบายเห็นควรว่าจะเอาไปใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างไรถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบสุขภาพของประเทศไทย

ซึ่งหมายถึงประโยชน์สูงสุดของคนไทยที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับจากนโยบายด้านสุขภาพนั่นเอง

Q: เภสัชศาสตร์และการขับเคลื่อนระบบสุขภาพแห่งชาติที่ยั่งยืนในอนาคต 

A: ในอนาคตก็จะยังคงผลิตผลงานวิจัยทางด้าน HTA เป็นหลักต่อไป เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่นําไปสนับสนุนการตัดสินใจในเชิงนโยบายให้กับหลาย ๆ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลิตนักวิจัยที่ทำงานด้าน HTA ให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน อีกทั้งขยายขอบเขตไปจนถึงประเทศแถบแอฟริกา และจะขยายขอบเขตออกไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างนักวิจัยที่สามารถทำงานด้าน HTA ได้มากขึ้น และตอบโจทย์ให้กับประเทศที่กําลังจะจัดตั้งหน่วยงานที่ดำเนินงาน HTA ให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกว่า UHC (Universal Health Coverage)

ขณะเดียวกันก็สร้างความยั่งยืนของระบบสุขภาพแห่งชาติในระยะยาว เพราะว่าเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพที่นําเข้ามาให้ประชาชนจะเป็นเทคโนโลยีที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และรัฐก็จะไม่ล้มละลายจากการลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว อีกทั้งยังช่วยให้รัฐสามารถจัดลำดับความสำคัญของของนโยบายสุขภาพแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเป็นระบบ

HTA จะทำให้นโยบายของระบบสุขภาพแห่งชาติอันเป็นสิทธิประโยชน์โดยชอบธรรมของประชาชนตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความปลอดภัย ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงประเด็นทางจริยธรรม ซึ่งทําให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระบบสุขภาพเอง แล้วก็ความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอีกด้วย

Q: ความสำคัญของ HTA

A: HTA เป็นเครื่องมือสําคัญที่จะทําให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากว่าเมื่อเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างการรักษาก็จะฟรี

แต่ว่าภายใต้นโยบายด้านงบประมาณที่มีจํากัดของแต่ละประเทศ จะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อที่จะทําให้ครอบคลุมและสามารถทําให้ยั่งยืนอยู่ได้โดยที่ไม่ล้มละลาย สามารถที่จะคุ้มครองประชาชนได้ ก็จะต้องมีการนําเอาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพหรือ HTA เข้ามา

ซึ่งส่วนหนึ่งของ HTA ก็จะเป็นการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อที่เราจะคัดเลือกยาหรือเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในประเทศ นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนของคณะทํางานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในการกําหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขสําหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference


ขอขอบคุณ

  • รศ.ดร.ภญ. อุษา ฉายเกล็ดแก้ว
    รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • รศ.ดร.ภญ. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์
    ภาควิชาเภสัชกรรม
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • รศ.ดร.ภก. อาทร ริ้วไพบูลย์
    ภาควิชาเภสัชกรรม
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผศ.ดร.ภญ. ศิตาพร ยังคง
    ภาควิชาเภสัชกรรม
    คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จำนวนผู้เข้าชม: 117 ครั้ง

Related Posts

2 กรกฎาคม 2568

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs

Featured Article

2 กรกฎาคม 2568

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top
Scroll to Top