ชวนฟัง 3 เหตุผลว่าทำไมธุรกรรมยุคใหม่ถึงต้องใช้ “e-Receipt”

เผยแพร่แล้ว: 31 พฤษภาคม 2565
Q&A

ชวนฟัง 3 เหตุผลว่าทำไมธุรกรรมยุคใหม่ถึงต้องใช้ e-Receipt ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านการใช้เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินแบบสแกนจ่ายผ่าน QR code, การจ่ายเงินโดยการตัดเงินผ่านบัตรเครดิต หรือแม้กระทั่งการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านพร้อมเพย์

จะเป็นอย่างไร ถ้าโรงพยาบาลก็นำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน มาใช้ในการจัดทํา และจัดเก็บใบเสร็จรับเงินรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ชีวิตของพวกเราจะง่ายขึ้นมากแค่ไหน มีข้อดีอย่างไร และทำไมธุรกรรมยุคใหม่ถึงต้องใช้ e-Receipt

มารู้จักโครงการการจัดทำและจัดเก็บใบเสร็จรับเงินรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากคณะทำงานทั้ง 3 ท่าน
รองคณบดีฝ่ายการคลัง – รศ.พญ.อุบลรัตน์ สันตวัตร
รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ – ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
ผอ.รพ.ศิริราช -รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์
ที่จะมาอธิบายและให้ความรู้ว่าการชำระเงินหลังจากนี้จะง่ายขึ้นอย่างไร

ผอ.รพ.ศิริราช -รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์
Q : อยากให้เเล่าที่มาของโครงการ e-Receipt ว่าเป็นมาอย่างไร

A : สภาพปัญหาคือคนไข้มารับบริการที่ศิริราชวันนึงเป็นหมื่นคน ก็จะมีการออกใบเสร็จรับเงินหลักพัน ซึ่งทุกอย่างต้องพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษ มีต้นทุนต้นฉบับ ต้นทุนสำเนา เจ้าหน้าที่แคชเชียร์ที่รับเงินต้องมีการลงลายมือชื่อตัวจริงให้กับคนไข้ ตัวที่เป็นสำเนาก็ต้องเก็บ ส่วนที่สองคือต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ สามก็คือเกิดกระบวนการมากมายการที่โรงพยาบาลจะต้องเก็บสำเนา เก็บจำนวนกระดาษมหาศาลเพราะฉะนั้นปีหนึ่งเฉลี่ย 9 -10 ล้านใบสำหรับใบเสร็จรับเงินโรงพยาบาลศิริราชที่เดียว สภาพนี่คือสภาพปัญหาที่เราอยู่กับมันมาแต่เดิม

และเรื่องนี้เป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเราคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ที่สำคัญ คือ ตอบโจทย์ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ทำให้เราประหยัดเวลา ขั้นตอนถูกต้อง และการจัดเก็บเอกสารจะหายไป แนวคิดจะคล้าย ๆ กับเรื่องของเอทีเอ็ม เรื่องของ Mobile Banking เรื่องของ e-Commerce เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ กระแสสังคมที่เป็นแบบนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเปลี่ยนไปสู่ทิศทางนี้

เดี๋ยวนี้คนก็คุ้นเคยจากการจ่ายเงินซื้อของแบบไปสแกนจ่าย ทุกคนก็จะคุ้นเคยกับการช็อปปิ้งออนไลน์ เพราะฉะนั้นสำหรับพฤติกรรมของผู้รับบริการไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่จะจัดระบบการทำงานของเราได้อย่างไร ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งเรื่องของระบบงานและเรื่องของผู้รับบริการ จนเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

วันแรกที่เราเดินไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารเรามั่นใจไหม เหมือนกันกับวันแรกที่เราซื้อของออนไลน์ เราซื้อเสร็จต้องรีบเช็คว่าจะได้ของหรือไม่ เราจะได้ใบเสร็จหรือไม่ เราจะได้สินค้าหรือไม่ ตัดเงินเราถูกหรือเปล่า เหมือนกับในเรื่องของการทำใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์เราต้องมีกระบวนอะไรที่ทำให้มั่นใจได้ว่าใบเสร็จรับเงินถูกต้อง

โดยเจ้าหน้าที่รับเงินของเรา ฝ่ายการเงินของเรารับเงินที่ถูกต้อง มีการนำกระบวนการนี้เข้าไปอยู่ในระบบบัญชีที่ถูกต้อง นอกจากจะทำได้ถูกต้องแล้วอย่างที่สองต้องตรวจสอบได้ เพราะระบบโรงพยาบาลระบบภาครัฐจะต้องผ่านการตรวจสอบ ระบบอันที่สามก็คือสิ่งนี้ทำถูกต้องตรวจสอบได้ เกิดการเชื่อมโยงไหมกับผู้ที่รับจ่ายยกตัวอย่าง เช่น เชื่อมโยงไปถึงผู้รับบริการไหม ใบเสร็จไปถึงเขาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องทำอยู่สามเรื่อง
คือ การทำให้ถูกต้อง ต้องตรวจสอบได้ เชื่อมโยงได้

Q : โครงการนี้มีประโยชน์กับประชาชนทั่วไปอย่างไรบ้าง

A : สะดวก ลดเวลา เราคงเคยเห็นภาพคนต่อคิวที่จะจ่ายตังมันน่าจะหมดไปแล้ว เพราะกระบวนการในการจ่ายเงินแต่ละครั้งมันสั้นลง ไม่ต้องจ่ายตรงนั้นก็ได้ ไปจ่ายที่ตู้ Kiosk ทั้งหลาย หรือจ่ายผ่านมือถือก็ได้ กระบวนการเหล่านั้นลดลง ไม่ต้องรอใบเสร็จรับเงินเพราะใบเสร็จรับเงินเราอยู่ในมือถือ หรือถ้าต้องการก็สามารถขอผ่านอีเมลออกมาเหมือนของจริงได้

รองคณบดีฝ่ายการคลัง – รศ.พญ.อุบลรัตน์ สันตวัตร

Q : ความยากง่ายของการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย

A : จะเรียกว่ายากไหม ไม่ได้เรียกว่ายากนะ คือเราจะทำเรื่องอะไรสักอย่างเราต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในระบบ แล้วระบบนิเวศน์ของระบบนั้นมีอะไรบ้าง อย่างพระเอกนางเอกก็เป็น ETDA เป็นมหิดล แล้วก็ศิริราชก็ต้องทำงานร่วมกัน

ก่อนที่เราจะไปพัฒนาในขั้นถัดไปเราต้องมั่นใจในระบบเดิมเราให้ได้ก่อน เราต้องดูว่าเอกชนทำอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งแรกเลยเนี่ยเราต้องหาผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่ควบคุมมาตรฐานเหล่านี้ก่อน ซึ่งก็ได้แก่ ETDA กรมพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตอนเข้ามาตอนแรกก็ต้องกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในการส่งข้อมูล อันที่สองหลังจากทำมาตรฐานเสร็จและควบคุมมาตรฐานก็คือองค์กรอย่างเช่น กรมบัญชีกลางที่เป็นภาครัฐในเรื่องการเบิกจ่ายก็ต้องเข้ามารับรองว่ามาตรฐานนี้เป็นระบบที่ยอมรับใช้ได้ อันที่สามก็ต้องคุยกับระบบที่นำใบเสร็จไปใช้ในแต่ละที่ว่าจริง ๆ แล้วระบบมันมั่นคงปลอดภัยเชื่อถือได้เทียบเท่าใบเสร็จจริง อันนี้ก็ต้องสร้างความเข้าใจ ช่วงต้นต้องมีความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลเอง กรมบัญชีกลาง หรือว่ารัฐวิสาหกิจ หรือประกัน

ต้องขอบคุณทุกองค์กรที่ช่วยกันพัฒนา ไม่ว่าเรื่องอะไรของศิริราชจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกเสมอ ในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ต้องขอขอบคุณ ETDA ที่สร้างมาตรฐานให้ความรู้แล้วก็นำไปเผยแพร่ ขอบคุณกรมบัญชีกลางที่ยอมรับในมาตรฐานและพยายามทำงานต่อให้สมบูรณ์ อีกอันนึงขาดไม่ได้เลยคือมหาวิทยาลัยมหิดล จะเห็นว่าบางเรื่องเราอาจจะยังต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน แล้วเราก็อาจจะเคลื่อนไม่ได้ทั้งหมดแต่อย่างน้อยบางส่วนที่เราเคลื่อนได้ก็จะเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงผลักดันให้ที่อื่นสามารถนำไปทำได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น

Q : ผลตอบรับของโครงการเป็นอย่างไรบ้าง

A : ต้องบอกว่าดีมาก ตอนนี้เรียกว่าองค์กรภาครัฐมาดูงานเยอะมากเลย ต่อไปถ้าโครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้เมื่อไหร่ก็จะดีมาก ๆ

รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ – ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์

Q : แล้ว e-Receipt มีขั้นตอนการใช้งานยังไงบ้าง

A : ในกระบวนการของการออกใบเสร็จ แทนที่เราจะออกกระดาษที่พิมพ์เอกสารทุกใบ ใบเสร็จจะถูกออกเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์พร้อม e-Timestamp แล้วถูกเก็บไว้ ขณะเดียวกันอีกหนึ่งก๊อปปี้ตัวนี้เราสามารถส่งให้ผู้รับบริการได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้รับบริการเกิดบอกว่าทำหาย หรือ หาไม่เจอ เราก็จะมีตัวตั้งต้นต้นฉบับว่าเอกสารตัวนี้ได้ถูกทำขึ้นลักษณะเป็นยังไง ยอดเงินเท่าไร จ่ายโดยใคร วันที่เท่าไร

Q : วิธีการสร้างความน่าเชื่อถือของ e-Receipt

A : ในกระบวนการของเอกสารที่เราจะส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ หมายความว่า ใครก็ตามที่มาเห็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตัวนี้ จะต้องมั่นใจว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตัวนี่เป็นของจริง ในกระบวนการการสร้างความน่าเชื่อถือ เราเลยมองว่ามีปัจจัยอยู่สองข้อ

ข้อที่ 1) คือเรื่องของการมีบุคคลที่สาม หรือ Third party มายืนยันว่าเอกสารเป็นตัวจริง

ข้อที่ 2) คือเอกสารชุดนี้ต้องสามารถตรวจสอบได้ว่านี่ของจริง

ในกระบวนการการดำเนินการเอกสารใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ที่เราดำเนินการ เราเลยดำเนินการเป็นสองส่วน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในฝั่งของโรงพยาบาลเราน่าเชื่อถืออยู่แล้ว เพราะระบบของกระบวนการการเก็บเงินต่าง ๆ ของเราได้การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศ ISO27001 เป็นตัวที่พร้อมใช้งานและเชื่อถือได้

หลังจากที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ เราก็จะได้คำตอบของคำถามที่ว่า ‘ทำไมธุรกรรมยุคใหม่ถึงต้องใช้ e-Receipt’ นั่นเป็นเพราะ e-Receipt มีประโยชน์กับคนทั่วไป, ใช้ได้จริง และ น่าเชื่อถือ

แล้วคุณล่ะ วันนี้ทดลองใช้ e-Receipt แล้วหรือยัง?


ขอขอบคุณ

  • รศ.นพ. วิศิษฎ์ วามวาณิชย์
    ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช
    คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • รศ.พญ. อุบลรัตน์ สันตวัตร
    รองคณบดีฝ่ายการคลัง
    คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ศ.คลินิก นพ. อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
    รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ
    คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

จำนวนผู้เข้าชม: 503 ครั้ง

Related Posts

2 กรกฎาคม 2568

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs

Featured Article

2 กรกฎาคม 2568

มหิดลจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Mahidol Change Agent #1”

มหิดลส่งต่อผู้นำที่มีอิทธิพลโดดเด่น 55 คน เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตามแนวทาง SDGs

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top
Scroll to Top