เปิดเส้นทางระบบยาและเวชภัณฑ์ไทยในห่วงโซ่อุปทานสุขภาพแห่งชาติ

เผยแพร่แล้ว: 23 สิงหาคม 2566

เคยสงสัยกันไหมว่า…กว่ายา 1 เม็ดในมือของเรา หรือวัคซีนสักเข็มที่กำลังถูกฉีดเข้าไปในร่างกายของเรานั้น มันมาจากไหนกันนะ?  

เปิดบทสัมภาษณ์คนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสุขภาพของประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่จะพาเราไปรู้จักกับการเดินทางของยา เวชภัณฑ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงมือของผู้บริโภค หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘ห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ’ ที่จะเปลี่ยนโฉมการให้บริการของโรงพยาบาลและเพิ่มขีดศักยภาพของการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

Q: ห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ (Healthcare Supply Chain) คืออะไร

A: เวลาพูดถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เราต้องพูดถึงผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างที่มาจากจุดเริ่มต้นไปจนกระทั่งถึงจุดสิ้นสุด ซึ่งเรียกว่า ‘ต้นน้ำ’ กับ ‘ปลายน้ำ’

แล้วมีอะไรที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานสุขภาพบ้าง…ก็คือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับสุขภาพของเรา เช่น ยา เวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนสำลี เข็มฉีดยา หรือของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใช้กับสุขภาพเรา ดังนั้นห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ (Healthcare Supply Chain) ก็คือการเดินทางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ โดยในท้ายที่สุดมาใช้กับสุขภาพของเรา

‘ห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ’ จะต่างจากห่วงโซ่อุปทานทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือแพทย์กลุ่มนี้ ผู้ป่วยไม่ได้เป็นคนกำหนดความต้องการใช้ (Demand) ของผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ แต่จะมาจากข้อมูลต่าง ๆ จากผู้ให้บริการ แม้กระทั่งคลังของที่มี หรือโรคของผู้ป่วย

ปัญหาของประเทศเรา คือ ข้อมูลผู้ป่วยอยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลของผู้ให้บริการหรือคุณหมออยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลยาซึ่งเป็นข้อมูลมหาศาลของประเทศนี้อยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องมือแพทย์ก็อยู่อีกที่หนึ่ง โดยแต่ละฐานข้อมูลไม่เกิดการผสานเข้าด้วยกันทั้งหมดได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งถึงปลายน้ำ ทำให้เรากำหนดไม่ได้เลยว่าอุปสงค์หรือความต้องการ (Demand) กับอุปทาน (Supply) มีจำนวนเท่าไหร่

Q: จุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสุขภาพแห่งชาติ

A: เริ่มแรกเกิดจากการที่เข้าไปทำการคาดการณ์ความต้องการยาของผู้ป่วย (Demand Forecasting) ว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้เข้ามาต้องการยาจำนวนเท่าไหร่ เราควรจะสต็อกของไว้เท่าไหร่ ขนส่งอย่างไร โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 2 ฝ่าย คือ ‘ผู้ขนส่ง’ กับ ‘ผู้รับ’ ก็คือโรงพยาบาล และเจอปัญหาว่าขนส่งหรือผู้ผลิตเรียกชื่อยาชื่อหนึ่งหรือรหัสที่ใช้ในคอมพิวเตอร์เป็นรหัสหนึ่ง พอมาถึงโรงพยาบาลก็เป็นอีกรหัสหนึ่ง! ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์คุยกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ไม่เหมือนค้าปลีกค้าส่งทั่วไป

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสุขภาพ คือ ความเชื่อมโยงของข้อมูลแบบอัตโนมัติ จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรให้รหัสยาทั้งประเทศเป็นรหัสเดียวกัน พอสำรวจก็พบว่ามาตรฐานรหัสยาของประเทศไทยมีเยอะมาก การมีมาตรฐานเยอะ ๆ นั้นแปลว่า ‘ไม่มีมาตรฐาน’ เราจึงเชื่อมฐานข้อมูลรหัสยากลุ่มนั้นเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็จะได้รหัสยาที่เหมือนกันทั้งประเทศ และเชื่อมโยงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เหมือนเวลาเรากดตู้ ATM ของธนาคารที่เราใช้ตู้ไหนก็ได้ เพราะใช้มาตรฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เดียวกันทั่วประเทศ

พอข้อมูลยา ข้อมูลเวชภัณฑ์ ข้อมูลผู้ป่วย ฯลฯ เริ่มเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ จากนั้นก็เลยคิดต่อคือจะทำอย่างไรให้มันสอบย้อนกลับได้ เราบริโภคยาเข้าไปตัวหนึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่ามาจากไหน แต่เมื่อเรามีข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดแล้ว ก็จะสอบกลับได้ว่ายาตัวนั้นมาจากไหนและไปที่ไหนมาบ้าง

เรารวมตัวกันทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสาขาโลจิสติกส์ อุตสาหการ ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องกล ชีวการแพทย์ และก็อีกหลายส่วนเข้ามาช่วยกันทำตรงนี้ ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

Q: ‘ความท้ายทาย’ และ ‘ความสำเร็จ’

A: เราเริ่มโครงการนี้ประมาณ 13 ปีที่แล้ว แรกเริ่มเลยคือ ‘ความเข้าใจ’ และข้อมูลทุกอย่างเราต้องการการประสานงาน และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กว่าเราจะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจในการขอข้อมูลทั้งหมดมาผสานเข้าด้วยกัน โดยที่ระบบของประเทศไทยเป็นคนละระบบกันหมดเลย เพราะฉะนั้นความร่วมมือ (Collaboration) ตรงนี้จึงยากมาก

เราจะต้องแก้ทั้งตัวระบบ แก้ทั้งความเข้าใจต่าง ๆ ว่าจะใช้ข้อมูลอะไรป้อนเข้าไปในระบบเพื่อทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แล้วก็ผสานทุกส่วนเข้าด้วยกัน ให้เป็นระบบหนึ่งเดียวเชิงบูรณาการ….อันนี้คือความยากที่สุด

หลังจากทำไปประมาณสัก 50% ของประเทศ…โควิด 19 ก็เข้ามา เราจึงใช้องค์ความรู้ทั้งหมดนี้ไปใช้งานกับสถานการณ์จริง ทำให้เราสามารถติดตามและสอบกลับวัคซีนโควิดได้ทั้งหมด คือตั้งแต่ลงจากเครื่องบินมา เราทราบได้หมดว่าวัคซีนโควิดตัวนี้ผลิตจากไหน ลงมาจากเครื่องบินแล้วนะ เดินทางมาด้วยรถขนส่งไหน เดินทางมาที่คลังกระจายสินค้าที่ไหน ใครรับ กระจายไปภาคไหน โรงพยาบาลอะไร และนำไปฉีดให้กับใคร จากนั้นก็ยิงข้อมูลนั้นเข้า ‘แอปพลิเคชันหมอพร้อม’ ซึ่งจะสอบกลับได้ว่าวัคซีนโควิดที่พวกเราถูกฉีดเข้าไปมันมาจากไหนจากที่เล่ามาทั้งหมด

โครงการนี้ทำให้ต้นทุนทางโลจิสติกส์ลดลง ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจมากขึ้น แล้วที่สำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัย และความแม่นยำที่ผู้ป่วยจะได้รับยาตัวนั้นอย่างไม่ผิดพลาด โดยสามารถจ่ายยาตรงตามความต้องการต่อโรคจริง ๆ

ลดต้นทุน ลดความผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการโรงพยาบาลในประเทศไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ

ติดตามอัปเดตเรื่องราวใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference


ขอขอบคุณ

  • รศ.ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย
    หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์
    มหาวิทยาลัยมหิดล

จำนวนผู้เข้าชม: 2,564 ครั้ง

Related Posts

1 เมษายน 2568

สรุปภาพรวมโครงการ Healthy University: Low Sodium Policy

สร้างชุมชนมหิดลลดบริโภคโซเดียมตั้งแต่ระดับนโยบาย - สร้างสภาพแวดล้อม - กระตุ้นความตระหนักรู้ อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวัน
25 มีนาคม 2568

รับชมการชี้แจงโครงการ Mahidol Change Agent #1 ย้อนหลัง

รับชมวิดีโอบันทึกภาพการชี้แจงโครงการมหิดลเพื่อการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 1 ย้อนหลังได้แล้ววันนี้

Featured Article

1 พฤษภาคม 2568

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหิดล ประกาศนโยบายเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยิน เพื่อเป็นผู้นำในการเปลี่นยนแปลงเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
30 เมษายน 2568

มหิดล – มช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ส่งเสริมการวิจัย นวัตกรรม กิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืน

ยกระดับการศึกษาภายใต้การสานพลังเพื่อความยั่งยืน (MUSynergy) ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
28 เมษายน 2568

มหิดลนครสวรค์เข้าร่วมการประชุมวิชาการผลงานวิจัยภูมิศาสตร์ นำเสนอผลงานการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด

“การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top