รวมเหตุผลง่าย ๆ ว่าทำไมเด็กต้องใช้ Car Seat

เผยแพร่แล้ว: 19 ตุลาคม 2565

เมื่อเด็กเดินทางด้วยรถยนต์ ทำไมต้องใช้ Car Seat ด้วยนะ ?

มาทำความรู้จัก ที่นั่งนิรภัย หรือ Car Seat ไปกับ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเด็กในไทย และการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความปลอดภัยในเด็ก

‘ที่นั่งนิรภัย’ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า คาร์ซีท (Car Seat) เป็นอุปกรณ์เสริมของที่นั่งหรือเบาะสำหรับเด็กในรถยนต์ ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวร่างกายของเด็กไว้เพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรงหรืออันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สามารถลดโอกาสเสียชีวิตของเด็กจากการเดินทางด้วยรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ

ตั้งแต่การประกาศ พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ในช่วงที่ผ่านมา Car Seat ก็ได้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง โดยหลายคนยังมีข้อสงสัยถึงความสำคัญของการใช้ Car Seat กันอยู่บ้าง

Q: Car seat คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

A: Car seat คือ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ทำหน้าที่เป็นระบบยึดเหนี่ยวร่างกายของเด็กไว้กับรถยนต์ ระบบยึดเหนี่ยว คือ การทําให้ร่างกายหยุดอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนตัวตามความเร็วของรถยนต์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ระบบยึดเหนี่ยวที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี คือ เข็มขัดนิรภัย โดยผู้ที่ส่วนสูงเกิน 135 เซนติเมตร หรืออายุประมาณ 9 ปีขึ้นไป จะสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากอายุต่ำกว่า 9 ปี หรือส่วนสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตร การคาดเข็มขัดนิรภัยแบบปกติจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าเนื่องจากการคาดเข็มขัดที่ไม่พอดีกับร่างกาย

แต่…ผู้ขายรถยนต์ไม่เคยบอกผู้ซื้อว่ารถยนต์ที่มีแต่เข็มขัดนิรภัยนั้น เป็นยานพาหนะที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ปี แต่เมื่อเปิดดูสมุดคู่มือของรถทุกยี่ห้อจะพบคำแนะนำระบุไว้ว่า ให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสําหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี หรือมีส่วนสูงน้อยกว่า 135 เซนติเมตร

เด็กทารกเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพราะเด็กทารกจะมีลักษณะเหมือนลูกแบดมินตัน หัวใหญ่ ตัวสั้น เวลาเราโยนลูกแบดมินตันขึ้นไป ด้านหัวจะตกลงเสมอ เพราะว่ามีน้ำหนักที่มากกว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วที่รถยนต์ใช้ขณะนั้น และไม่ว่าจะลอยไปทิศทางใด สุดท้ายส่วนหัวจะเป็นส่วนนําแล้วพุ่งไปกระแทกเข้ากับกระจกหรือโครงสร้างรถยนต์ส่วนต่าง ๆ  ประกอบกับกระดูกกับคอที่สั้นและกล้ามเนื้อต้นคอที่อ่อนแอทำให้เกิดภาวะกระดูกต้นคอในระดับต้น ๆ หัก และกดทับไขสันหลังทำให้หยุดหายใจ

จึงเป็นสาเหตุที่สําคัญว่าทําไมต้องยึดเหนี่ยวตัวเด็กเหมือนผู้ใหญ่ แล้วก็ต้องยึดเหนี่ยวให้ถูกวิธีด้วย

Q: Car Seat กับความปลอดภัยในเด็ก

A: ถ้าเราถามว่า นวัตกรรมใดในรถยนต์ที่จะช่วยลดการตายของเด็กได้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุในรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเบรก ABS หรือจะเป็นถุงลมนิรภัย (Airbag) ฯลฯ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ช่วยลดอัตราการตายได้ดีที่สุดก็คือระบบยึดเหนี่ยวที่เหมาะสมนี่แหละ สําคัญที่สุดเลยทั้งเด็กและผู้ใหญ่

Q: พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

A: พระราชบัญญัติฉบับนี้มีความสําคัญมาก นอกจากจะควบคุมการกระทําผิดแล้ว ยังดูแลเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคลได้ มีจุดเน้นหลายจุดที่ของเดิมไม่สมบูรณ์ แล้วมีการปรับให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับเด็ก เช่น เรื่องของเข็มขัดนิรภัย

ระบบยึดเหนี่ยวร่างกายในรถทุกชนิดเป็นกลไกสําคัญที่จะช่วยลดการตายลงได้ เนื่องจากเวลารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ทุกคนที่อยู่ในรถก็จะเคลื่อนด้วยความเร็วของรถ เมื่อรถเกิดหยุดและเปลี่ยนความเร็วจาก 100 เป็น 0 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คนไม่ได้หยุดตามรถ จะทำให้ลอยออกไปได้ ต่อให้ออกแบบโครงสร้างรถยนต์ดีขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าคนยังลอยตามความเร็วนั้น ความแข็งแรงของรถยนต์จะไม่ช่วยปกป้องอะไรเลย

ดังนั้นระบบยึดเหนี่ยวจึงสําคัญมาก กฎหมายเก่าให้มีเข็มขัดนิรภัยเฉพาะผู้นั่งข้างคนขับและคนขับ ซึ่งสามารถยึดเหนี่ยวได้เฉพาะผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุเกิน 9 ปีขึ้นไปเท่านั้น

พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ได้มีการแก้ไขให้มีเข็มขัดนิรภัยครอบคลุมทุกที่นั่งในรถ และในเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ปี หรือมีส่วนสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตร จะต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ นั่นก็คือ ที่นั่งนิรภัย (Car Seat)

กฎหมายที่ออกมาทําให้หน่วยงานภาครัฐต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับความปลอดภัย สร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล และต้องไปทํางานเพื่อให้กฎหมายนี้คุ้มครองประชาชนได้

ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference


ขอขอบคุณ

  • รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
    ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

จำนวนผู้เข้าชม: 1,757 ครั้ง

Related Posts

8 พฤษภาคม 2568

มหิดลเร่งบูรณาการข้อมูล AQHI กับเครือข่ายความร่วมมือ รพ. และภาครัฐ

ขยายขีดจำกัดการประยุกต์ใช้ข้อมูล AQHI สู่สังคมเป็นวงกว้างร่วมกับ รพ. และหน่วยงานภาครัฐ
1 เมษายน 2568

สรุปภาพรวมโครงการ Healthy University: Low Sodium Policy

สร้างชุมชนมหิดลลดบริโภคโซเดียมตั้งแต่ระดับนโยบาย - สร้างสภาพแวดล้อม - กระตุ้นความตระหนักรู้ อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวัน

Featured Article

8 พฤษภาคม 2568

มหิดลเร่งบูรณาการข้อมูล AQHI กับเครือข่ายความร่วมมือ รพ. และภาครัฐ

ขยายขีดจำกัดการประยุกต์ใช้ข้อมูล AQHI สู่สังคมเป็นวงกว้างร่วมกับ รพ. และหน่วยงานภาครัฐ
1 พฤษภาคม 2568

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหิดล ประกาศนโยบายเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยิน เพื่อเป็นผู้นำในการเปลี่นยนแปลงเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top