น้ำปลาผสมผักสะทอน นวัตกรรมเครื่องปรุงรสเค็มจากภูมิปัญญาไทย

เผยแพร่แล้ว: 15 สิงหาคม 2566

‘น้ำปลา’ เป็นเครื่องปรุงรสจากปลาทะเลที่คุ้นเคยและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย

รสชาติเค็มที่ช่วยให้อาหารกลมกล่อม (อูมามิ) อีกทั้งมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แต่หากรับประทานมากเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายของเราอย่างมาก ถึงแม้ว่าเราทราบเรื่องนี้กันเป็นอย่างดี แต่การจะอดใจไม่เหยาะน้ำปลาลงในอาหารสักนิดสักหน่อย…เห็นทีจะอดใจยาก

แล้วในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำปลาล่ะ? เขาใช้อะไรปรุงรสแทนกันนะ

จากการศึกษาค้นคว้าของอาจารย์ ดร.สมโชค กิตติสกุลนาม ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักศึกษา ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องปรุงรสเค็มเพื่อสุขภาพ ‘น้ำปลาผสมผักสะทอน’ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำพืชพื้นบ้านในแถบภาคอีสาน มาหมักจนได้น้ำปรุงรสเค็ม ให้รสชาติอูมามิ สามารถใช้แทนน้ำปลาได้ และมีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะในใบสะทอนนั้นมีปริมาณของโปรตีนสูง โซเดียมต่ำ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพอย่างมาก

เตรียมเมนูโปรดมานั่งกินไปอ่านไปพร้อม ๆ กัน รับรองว่าได้ทั้งอร่อยและความรู้อย่างแน่นอน !

Q: น้ำผักสะทอน ภูมิปัญญาเครื่องปรุงรสเค็มแทนน้ำปลา

A: ‘สะทอน’ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบโตในดินร่วนปนทรายบริเวณพื้นที่เชิงเขาใกล้แหล่งน้ำ สามารถทนเค็มได้เป็นอย่างดี พบได้มากในแถบภาคอีสาน ใบอ่อนสามารถนำมารับประทานสดจิ้มกับน้ำพริกได้

เนื่องจากต้นสะทอนเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ของถั่วจึงทำให้มีปริมาณของโปรตีนที่น่าสนใจ ประกอบกับดินในพื้นที่แถบภาคอีสานมีความเค็มจากแร่ธาตุที่หลากหลาย ดังนั้นน้ำที่ได้จากใบสะทอนจึงอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย โปรตีนสูง โซเดียมต่ำ โดยมีปริมาณโซเดียมอยู่ที่ 6 มิลลิกรัมต่อน้ำสะทอน 15 มิลลิลิตร

ข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยพบว่า ‘ผักสะทอน’ มีศักยภาพที่จะสามารถนำมาพัฒนาให้เป็นเครื่องปรุงรสเค็มที่ลดระดับปริมาณโซเดียมได้ซึ่งขณะนั้นเทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนมีวัฒนธรรมการใช้เครื่องปรุงรสที่หลากหลาย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำปลาโซเดียมต่ำเป็นที่สนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด จึงนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ‘น้ำปลาผสมน้ำผักสะทอน’ ขึ้น และได้นำไปแข่งขันในเวทีการประกวดนวัตกรรมระดับปริญญาตรีที่ประเทศมาเลเซีย (Novel Research and Innovation Competition (NRIC) 2019) โดยได้รางวัลเหรียญทองแดงกลับมา

Q: น้ำปลาแท้ – น้ำผักสะทอน – น้ำปลาผสมผักสะทอน

A: ชาวบ้านทำน้ำผักสะทอนโดยเก็บใบอ่อนที่มีอายุ 7-10 วัน ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี นำมาตำหรือโขลกด้วยครกกระเดื่องตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จากนั้นนำใบที่ตำเสร็จแล้วไปเติมน้ำแล้วหมักทิ้งไว้ในโอ่ง โดยจะใช้เวลาหมักประมาณ 2 – 3 วัน จนเกิดกระบวนการย่อยโปรตีนและทำให้เกิดรสชาติอร่อยขึ้น หลังจากที่หมักเสร็จแล้วจะได้เป็นน้ำสีเขียว จึงนำมากรองเอากากใบออก แล้วไปเคี่ยวด้วยความร้อนทำให้เข้มข้นขึ้น ก็จะได้เป็นน้ำผักสะทอนออกมา

รสชาติเค็มที่เกิดขึ้นมาจากแร่ธาตุในกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ แต่ความน่าสนใจมากกว่านั้น คือ ปริมาณโปรตีนที่มีอยู่มากในใบสะทอน เมื่อผ่านกระบวนการย่อยด้วยจุลินทรีย์จะมีลักษณะเป็นโปรตีนสายที่สั้นลง เรียกว่า เปปไทด์ (Peptide) หรือว่ากรดอะมิโน (Amino acid) ซึ่งจะให้รสชาติความอร่อยหรืออูมามินั่นเอง

โดยปกติน้ำปลาจะได้รสชาติเค็มจากเกลือ และความอูมามิจากโปรตีนในปลา ซึ่งในน้ำผักสะทอนจะให้ความรู้สึกและรสชาติแบบเดียวกันทั้งหมดได้

แม้ว่าน้ำปลาและน้ำสะทอนจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่น้ำผักสะทอนจะมีกลิ่นคาวค่อนไปทางน้ำปลาร้ามากกว่าน้ำปลา โดยคุณค่าทางโภชนาการน้ำปลาทั่วไป 1 ช้อนโต๊ะ (15 มิลลิลิตร) จะมีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,500 มิลลิกรัม (ปริมาณโซเดียมที่แนะนำคือ 2,000 มิลลิกรัม/วัน)

ผลิตภัณฑ์น้ำปลาผสมผักสะทอนจะมีปริมาณโซเดียมลดต่ำลงถึง 25% ดังนั้น น้ำปลาผักสะทอนจะช่วยให้เวลาเราทานหรือปรุงรสก็จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น เพราะได้รับปริมาณโซเดียมที่ลดต่ำลงนั่นเอง

Q: น้ำปลาผักสะทอนเหมาะกับใครบ้าง?

A: เหมาะกับทุกคนครับ คนที่ยังสุขภาพดีแนะนำให้รับประทาน เพราะว่าช่วยลดระดับปริมาณโซเดียมที่ได้รับต่อวัน จึงเหมาะกับผู้บริโภคทุกคนในทุกช่วงวัย *ยกเว้น กลุ่มของผู้ป่วยโรคไตที่จะต้องมีการจำกัดปริมาณแร่ธาตุ เช่น โพแทสเซียม หรือโซเดียม

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ

‘น้ำปลาผสมผักสะทอน’ คือ การผสมน้ำปลาและน้ำผักสะทอนเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดรสชาติที่ยังคงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทำให้ได้รสชาติที่คุ้นเคย และสามารถนำไปใช้ปรุงประกอบอาหารได้เหมือนกับน้ำปลาทั่วไป มีปริมาณโซเดียมลดต่ำลง และมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น

และอีกผลิตภัณฑ์ คือ ‘น้ำปลาหวาน’ ซึ่งได้รับการต่อยอดจากน้ำปลาผสมผักสะทอน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมลดลง 50% และลดปริมาณน้ำตาลได้ถึง 40% ด้วยปริมาณโซเดียมที่ต่ำ แคลอรีน้อย ทำให้การทานน้ำปลาหวานของคุณจะได้ไม่ต้องรู้สึกผิดต่อร่างกายอีกต่อไป

ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference


ขอขอบคุณ

  • อ.ดร. สมโชค กิตติสกุลนาม
    ภาควิชาโภชนวิทยา
    คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จำนวนผู้เข้าชม: 3,018 ครั้ง

Related Posts

1 เมษายน 2568

สรุปภาพรวมโครงการ Healthy University: Low Sodium Policy

สร้างชุมชนมหิดลลดบริโภคโซเดียมตั้งแต่ระดับนโยบาย - สร้างสภาพแวดล้อม - กระตุ้นความตระหนักรู้ อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวัน
25 มีนาคม 2568

รับชมการชี้แจงโครงการ Mahidol Change Agent #1 ย้อนหลัง

รับชมวิดีโอบันทึกภาพการชี้แจงโครงการมหิดลเพื่อการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 1 ย้อนหลังได้แล้ววันนี้

Featured Article

8 เมษายน 2568

มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เข้าร่วมกิจกรรม “การติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการนำ อววน. สู่การพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี”

MUKA เข้าร่วมรายงานผลโครงการบริการวิชาการ 5 โครงการ ในการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการนำ อววน. สู่การพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
1 เมษายน 2568

สรุปภาพรวมโครงการ Healthy University: Low Sodium Policy

สร้างชุมชนมหิดลลดบริโภคโซเดียมตั้งแต่ระดับนโยบาย - สร้างสภาพแวดล้อม - กระตุ้นความตระหนักรู้ อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวัน
31 มีนาคม 2568

มหิดลจัดกิจกรรม MUICT & ENVI MAHIDOL HACKATHON 2025

Hackathon ที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยและดูดซับก๊าซเรือนกระจก และเข้าสู่สังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top