สุขภาวะทางใจถือเป็นสิ่งสำคัญของการดำรงชีวิตไม่น้อยไปกว่าสุขภาวะทางกายของทุกคน
เนื่องจากมีความสัมพันธ์สอดคล้องและส่งผลโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอารมณ์ รวมถึงการทำงานของสมองที่สั่งการร่างกาย และไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัย อายุ เพศ หรือสถานะใดก็ตาม ทุกคนต่างเคยเผชิญปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาทิ ปัญหาจากการทำงาน ความรักความสัมพันธ์ ปัญหาจากความเจ็บป่วยจนเกิดภาวะบกพร่องทางร่างกายเรื้อรัง หรือเป็นปัญหาใหญ่ในบางรายก็ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการใช้ชีวิต
และคนจำนวนมากก็มีความกังวลใจกับกระบวนการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต ซึ่งสาเหตุนี้เองที่จะก่อให้เกิดการสะสมของปัญหาทางสุขภาพจิตได้โดยที่คุณไม่รู้ตัว!

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้พัฒนานวัตกรรมกิจกรรมบำบัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถบำบัดและฟื้นฟูสุขภาวะทางกายและใจของคุณให้แข็งแรง พร้อมใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข

Q: สุขภาพจิตของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง
A: จากรายงานของกรมสุขภาพจิตที่ได้สํารวจคนไทยตอนนี้ ไม่ว่าเพศหรือวัยใด พบว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิต 4 ประเด็นใหญ่ คือ มีภาวะเครียดสูง มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟในการทํางานหรือเรียนหนังสือ
สาเหตุเกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดย 20% ของผู้ป่วยเกิดจากปัจจัยภายนอก ส่วนปัจจัยภายในมีผลถึง 80% หรือที่เรียกว่า “ภาวะเปราะบางทางร่างกายและจิตใจ” อันเป็นไปตามช่วงวัยหรือสิ่งกระตุ้นจากภายนอก ซึ่งมักเกิดจากความอ่อนล้าด้านร่างกายและจิตใจในแต่ละวันที่ไม่พร้อมเรียนรู้ หรือไม่พร้อมมองโลกในแง่บวก ส่วนที่สองคือ ความสามารถที่ทนต่อแรงต้านหรือความอึด ฮึด สู้ ส่วนนี้เป็นทักษะที่ต้องบ่มเพาะเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ และส่วนสุดท้ายคือ ภาวะความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลกับเรื่องของผู้อื่นเกินไปหรือคิดมากไปเองได้

Q: นวัตกรรมกิจกรรมบำบัดสร้างสุขคืออะไร มีอะไรบ้าง
A: นวัตกรรมกิจกรรมบำบัดสร้างสุขเกิดจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากคลินิกกิจกรรมบำบัดจิตสังคม โดยศึกษาจากการวัดคลื่นสมองของผู้รับบริการแล้วพบว่า หลายรายมักมีภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย โดยมีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้สมองสะสมความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงความคิดลบ ด้วยเหตุนี้จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยบำบัดฟื้นฟูสุขภาวะทางใจ ทำให้เกิดความผ่อนคลายความตึงเครียดทางอารมณ์ ช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยและภาวะซึมเศร้าวิตกกังวลได้
Brainy2Blessly – เป็นนวัตกรรมที่ให้เราทดสอบว่ามีความจำที่ดีไหม ความจำที่ดีสามารถบอกตัวเองได้ไหมว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างรอบ ๆ ตัว ที่สามารถเพิ่มความสุขได้ ก็จะทำให้วัดระดับความสุขได้
Smiley Sound – เป็นนวัตกรรมที่บันทึกคลื่นสมองให้เป็นเสียงผสมกับเสียงเล่นดนตรี และนำมาดัดแปลงเป็นเสียงที่ฟังแล้วเกิดความสบายใจ คลายกังวล คลายเศร้า และช่วยนอนหลับได้
4voices – เป็นนวัตกรรมที่ให้ผู้ใช้งานบันทึกเสียง แล้วนักกิจกรรมบำบัดจะนำไปวิเคราะห์ผลว่าคลื่นเสียงที่บันทึกไว้นั้นมีความคิดบวกกี่เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนักกิจกรรมบำบัดจะแนะนำกิจกรรมให้ปฏิบัติเพื่อบำบัดฟื้นฟูสุขภาวะใจให้ดีขึ้น เช่น การเดินตามจังหวะเพลงและตอบคำถามไปพร้อมกัน

Q: การรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตจะได้ทำอย่างไร
A: วิธีการที่ทั่วโลกแนะนําคือ “การฝึกฝนทักษะความเข้มแข็งทางจิตสังคม” ยกตัวอย่างเช่น การติดตามว่าเรามีจุดแข็งอะไร หรือมีจุดอ่อนอะไรที่จะต้องค่อย ๆ แก้ไข การฝึกฝนทักษะการรับฟังและแลกเปลี่ยนอย่างลึกซึ้ง รับฟังโดยไม่ตัดสิน ผู้ฟังเองก็ไม่ได้เก็บเอาไปคิดเยอะหรือเครียดลบ สามารถที่จะปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้
ทั้งนี้ การสื่อสารเชิงบวกกับผู้ที่มีภาวะเปราะบางทางร่างกายและจิตใจ สามารถทำได้ดังนี้
1. สบตา 3 วินาทีแล้วยิ้มให้เพื่อแสดงความอ่อนโยน
2. พูดด้วยน้ำเสียงทุ้ม กังวานไปที่หูด้านขวา
3. พูดด้วยถ้อยคำเชิงบวก เช่น เรารับฟังเธอเสมอนะ เราไม่ตัดสินเธอ
ควรหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่แสดงการเพิกเฉยเหล่านี้ เช่น ไม่เป็นไร พอทำได้ กลุ่มคำเหล่านี้ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนกับถูกปล่อยให้รับผิดชอบหรือแบกรับภาระตามลำพัง ไม่ซักถามไต่สวน แสดงการมีน้ำใจ หรือแสดงความช่วยเหลือต่ออีกฝ่าย มุ่งเน้นเรื่องใส่ใจมากกว่าการตัดสินความรู้สึกของคนฟังนั่นเอง
ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference