‘หนังสือภาพนูนฟันของเราและการแปรงฟันที่ถูกวิธี’
เป็นสื่อการสอนประกอบภาพนูนสำหรับสอนผู้บกพร่องทางการมองเห็นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตาให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันหรือด้านอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง

ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บกพร่องทางการมองเห็น โดยอาศัยการเรียนรู้ผ่านทักษะด้านการสัมผัสและการฟัง ทดแทนการมองเห็นที่หายไปอันเป็นอุปสรรคสำคัญ และส่งเสริมให้มีการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันที่ดีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
มาทำความรู้จักหนังสือประกอบภาพนูนสำหรับสอนผู้บกพร่องทางการมองเห็นให้มากยิ่งขึ้นไปกับ ผศ.ทพญ.วรณัน ประพันธ์ศิลป์ ภาควิชาทันตกรรมเด็ก ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารองค์กร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Q: ปัญหาสุขภาพช่องปากระหว่างเด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นกับเด็กทั่วไป แตกต่างกันอย่างไร?
A: ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นจะมีปัญหาด้านสุขภาพช่องปากที่รุนแรงมากกว่า ทั้งฟันผุและเหงือกอักเสบมากกว่าคนทั่วไป
เพราะเด็กกลุ่มนี้ ‘ขาดสื่อที่มีประสิทธิภาพ’ ที่ใช้สอนการแปรงฟัน จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันที่รุนแรง จึงเป็นที่มาของการจัดทำ ‘หนังสือประกอบภาพนูน เรื่อง ฟันของเราและการแปรงฟันที่ถูกวิธี’ ขึ้น
โดยแต่เดิมการสอนแปรงฟันน้อง ๆ ที่ตาบอดนั้นจะใช้วิธีให้คุณครูเป็นผู้สอนและจับมือแปรงฟันทีละคน ทําให้คุณครู 1 คนต้องดูแลเด็ก ๆ มากกว่า 5 คนขึ้นไป จึงอาจจะทำให้การทำความสะอาดช่องปากและฟันไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร

Q: ทำไมถึงต้องเป็น ‘หนังสือประกอบภาพนูน’
A: หนังสือประกอบภาพนูนเป็นผลงานที่ได้รับการทดสอบแล้วว่าช่วยเสริมทักษะการแปรงฟันให้กับน้อง ๆ ที่ตาบอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราใช้เทคนิค ATP (Audio – tactile Performance Technique) และอักษรเบรลล์ เกิดเป็นหนังสือที่มีสื่อครบถ้วนทั้งการสัมผัส เสียง และการฝึกปฏิบัติจริง ทำให้เด็กที่ตาบอดสามารถเรียนรู้การรักษาสุขภาพช่องปากและฟันได้ดียิ่งขึ้น
ความยากนั้นอยู่ที่กระบวนการผลิตภาพนูน…เพราะว่าความเข้าใจและการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ของคนตาบอดกับคนทั่วไปความจริงแล้วไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นการทำภาพนูนสำหรับคนตาบอดจะต้องเป็นภาพนูนที่เข้าใจง่าย มีการตัดทอนรายละเอียดบางอย่างออกไป หากมีรายละเอียดมากเกินไป อาจจะทําให้เวลาคลําภาพแล้วเกิดความสับสนได้
ทั้งนี้ คุณภาพของการอัดภาพนูนก็เป็นสิ่งสําคัญอีกอย่าง เพราะต้องทําให้สมบูรณ์ตั้งแต่ตัวต้นแบบที่ใช้ในการอัดภาพ ซึ่งโชคดีอย่างมากที่ได้คุณครูสุจิตรา ติกวัฒนานนท์ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนเด็กตาบอดและการสอนด้วยภาพนูนมานานกว่า 30 ปี ให้ความช่วยเหลือเรื่องการออกแบบและการอัดภาพนูน จนทําให้ความตั้งใจผลิตหนังสือประกอบภาพนูนสอนการแปรงฟันประสบความสําเร็จในที่สุด

Q: ความสำเร็จหนังสือภาพนูนเป็นอย่างไรบ้าง?
A: เราวัดผลโดยดูจากองศาการวางแปรงสีฟัน การขยับแปรงสีฟันของเด็ก จํานวนด้านที่แปรง และความสะอาด พบว่า…เด็กบกพร่องทางการมองเห็นกลุ่มที่ได้ใช้สื่ออย่างครบถ้วน สามารถแปรงฟันได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน และแปรงได้สะอาดมากยิ่งขึ้น
ตอนนี้เราแจกแปรงสีฟันไปให้เด็กและสื่อการสอนให้คุณครูได้นําไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ผลตอบรับ คือ เด็ก ๆ สามารถเข้าใจและทําตามได้ดี
ในท้ายที่สุดแล้ว..เด็ก ๆ ฟันผุลดลงแล้วหรือไม่ สุขภาพช่องปากดีขึ้นแล้วหรือยัง อันนี้เป็นเรื่องระยะยาวมาก อาจจะต้องมีการสํารวจสภาวะทันตภาพของคนตาบอดในอีก 5 ปี หรือ 10 ปี ต่อไปในอนาคต
ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference