ทำไมต้องมีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ?

เผยแพร่แล้ว: 5 กันยายน 2566

จะเกิดอะไรขึ้น…ถ้าผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แสดงคุณค่าทางโภชนาการที่ช่วยให้เราทราบว่าสินค้าตัวนี้ ดีต่อสุขภาพมากกว่าตัวอื่นในอาหารประเภทเดียวกัน!

สำหรับใครที่กำลังสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง มื้อนี้มีแคลอรีเท่าไหร่? ปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์ไหม? แล้วโซเดียมล่ะ สูงเกินไปหรือเปล่า? และทุกครั้งที่เข้าร้านสะดวกซื้อก็จะต้องคอยพลิกซองและมองหาฉลากคุณค่าทางโภชนาการมาอ่านอย่างถี่ถ้วนกันเลยทีเดียว

เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)’ ตัวช่วยที่ทำให้ผู้รักสุขภาพตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าได้ง่ายยิ่งขึ้น

มาร่วมหาคำตอบไปกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ กลุ่มวิชาโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมาไขข้อข้องใจว่าทำไมผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทยต้องมีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) กันด้วยนะ

Q: สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) คืออะไร มีที่มาอย่างไร

A: เป็นสัญลักษณ์ทางโภชนาการประเภทหนึ่งที่จะอยู่บนหน้าบรรจุภัณฑ์ และแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้มีปริมาณของน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกลุ่มอาหารนั้น ๆ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับการบริโภค โดยในตัวสัญลักษณ์จะมีชื่อกลุ่มอาหารอยู่ เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มอาหารมื้อหลัก กลุ่มผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นก็จะมีการกำหนดเกณฑ์เพื่อวัดระดับคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกันค่ะ

ปัจจุบันปัญหาเรื่องภาวะโภชนาการเกินโดยเฉพาะเรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) ก็เพิ่มมากขึ้น นานาประเทศทั่วโลกก็ยังไม่สามารถที่จะขจัดปัญหาตรงส่วนนี้ได้ โรคเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวคนที่เป็นหรือครอบครัวเท่านั้น แต่ในภาพใหญ่ของประเทศมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลส่วนนี้จำนวนสูงมาก ทำให้เกิดการคุยกันในหน่วยงานภาครัฐว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชากรไทยของเรามีสุขภาพที่ดีขึ้น

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ซึ่งส่วนหนึ่งก็หลีกหนีไม่พ้นเรื่อง ‘พฤติกรรมการบริโภค’ ดังนั้นเลยมองว่าจะทำอย่างไรดี ประเด็นหนึ่งคือจะทำให้คนตระหนักรู้มากขึ้นได้อย่างไร และอีกประเด็นหนึ่งจะทำอย่างไรให้เราสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหารที่มันเอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น อันนี้คือจุดมูลเหตุที่ทำให้เกิดสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพขึ้นมาค่ะ 

Q: การเดินทางของสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ

A: ประเทศไทยเราใช้ฉลากโภชนาการแบบเต็มซึ่งจะอยู่ด้านหลังของผลิตภัณฑ์ และต่อมาทำเป็นฉลากแบบย่อ ย้ายมาอยู่ข้างหน้าบรรจุภัณฑ์ เรียกว่าฉลาก GDA (Guideline Daily Amounts) ตรงส่วนนั้นเองจะมีข้อมูลสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมายเลย แต่สิ่งที่เราพบก็คือว่าผู้บริโภคไม่ค่อยอ่าน หรือบางท่านอ่านแต่ว่าไม่เข้าใจความหมาย

การปรับฉลากจากข้างหลังมาอยู่ข้างหน้าบรรจุภัณฑ์จะดึงคุณค่าโภชนาการเฉพาะตัวที่สำคัญ 4 ตัว คือ พลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม แต่คนก็ยังไม่เข้าใจอีกและที่สำคัญคือผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อไม่ถึง 1 นาทีเลยค่ะ ดังนั้นการมีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพตัวนี้ที่มีคำว่า น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ผ่านเกณฑ์ ก็อาจจะทำให้เกิดการตระหนักรู้มากขึ้นว่าจะต้องระมัดระวังไม่บริโภค น้ำตาล ไขมัน โซเดียมที่มากเกินไปได้ โดยสิ่งนี้คือวัตถุประสงค์ข้อที่หนึ่งของสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ

ส่วนวัตถุประสงค์ข้อที่สอง เนื่องมาจากว่าภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มมากขึ้น และเราเองอยากจะสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ จึงเชิญผู้ประกอบการมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ปรับสูตรปริมาณของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมลดลง ทำให้คุณค่าทางโภชนาการของอาหารนั้นขยับมาในแง่ที่ดีต่อสุขภาพหรือเอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น และผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้น หันมาเลือกของที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพแทนที่จะไปเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณของน้ำตาลสูง ไขมันสูง หรือว่าโซเดียมสูง

การประกาศใช้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ปัจจุบันนี้ก็คือประมาณ 7 ปี ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการเก็บข้อมูลแล้วพบว่ามีคนที่เริ่มรู้จักและเข้าใจ หรือเห็นสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 และจากจำนวนนี้ได้ตอบว่าสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพมีส่วนในการตัดสินใจในการเลือกซื้ออยู่ที่ประมาณร้อยละ 60

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น โดยที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ‘ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องดื่ม’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในภาพรวมของอาหารหรือตัวผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีการใช้ปริมาณของน้ำตาลที่ลดน้อยลง ทำให้ผู้บริโภคทั้งประเทศได้รับน้ำตาลลดลงจากอุตสาหกรรมกลุ่มนี้

Q: สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพกับแนวโน้มที่ดีในอนาคต

A: เราคาดหวังว่าในอนาคตผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลมากแบบเดิมจะค่อย ๆ หมดไป และก็จะสร้างบรรทัดฐาน (Norm) ใหม่ให้กับผู้บริโภคของเรารู้จักว่าหวานแค่นี้คือพอดี เค็มแค่นี้พอดี และหลายภาคส่วนก็มีการรณรงค์เรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก

ตอนนี้เรามีผลิตภัณฑ์อาหารที่สามารถขอการรับรองสัญลักษณ์มากถึง 14 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 3,000 ผลิตภัณฑ์ ออกการรับรองภายใต้หน่วยงาน ‘หน่วยรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ’ ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถติดต่อเราโดยตรงที่นี่ได้ หรือผ่านเว็บไซต์ http://healthierlogo.com หรือเฟซบุ๊ก ทางเลือกสุขภาพ – Healthier Choice

อย่างไรก็ตามการบริโภคตามปริมาณที่เหมาะสมและมีความหลากหลายครบหมวดหมู่ยังมีความสำคัญมาก ที่จะช่วยทำให้เราแข็งแรงมีสุขภาพที่ดีและถือเป็นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อชีวิต ดังนั้น สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจึงเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้เรามีทางเลือกด้านผลิตภัณฑ์อาหารที่เอื้อต่อสุขภาพกับเรามากขึ้นเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจะไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพ แต่เป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ดีกว่าอาหารตัวอื่น ๆ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวกัน

ฉลาดรู้ ฉลาดกิน เลือกให้มีความเหมาะสมกับตัวเรา เป็นส่วนสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีของทุกคนค่ะ

ติดตามอัปเดตเรื่องราวใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference


ขอขอบคุณ

  • รศ.ดร. วันทนีย์ เกรียงสินยศ
    กลุ่มวิชาโภชนาการ สถาบันโภชนาการ
    มหาวิทยาลัยมหิดล

จำนวนผู้เข้าชม: 3,764 ครั้ง

Related Posts

1 เมษายน 2568

สรุปภาพรวมโครงการ Healthy University: Low Sodium Policy

สร้างชุมชนมหิดลลดบริโภคโซเดียมตั้งแต่ระดับนโยบาย - สร้างสภาพแวดล้อม - กระตุ้นความตระหนักรู้ อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวัน
25 มีนาคม 2568

รับชมการชี้แจงโครงการ Mahidol Change Agent #1 ย้อนหลัง

รับชมวิดีโอบันทึกภาพการชี้แจงโครงการมหิดลเพื่อการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 1 ย้อนหลังได้แล้ววันนี้

Featured Article

1 พฤษภาคม 2568

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหิดล ประกาศนโยบายเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยิน เพื่อเป็นผู้นำในการเปลี่นยนแปลงเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
30 เมษายน 2568

มหิดล – มช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ส่งเสริมการวิจัย นวัตกรรม กิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืน

ยกระดับการศึกษาภายใต้การสานพลังเพื่อความยั่งยืน (MUSynergy) ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
28 เมษายน 2568

มหิดลนครสวรค์เข้าร่วมการประชุมวิชาการผลงานวิจัยภูมิศาสตร์ นำเสนอผลงานการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด

“การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top