รู้หรือไม่? ผู้พิการทางสายตามีปัญหาด้านสุขภาพช่องปากรุนแรงกว่าคนทั่วไป

เพราะการมองไม่เห็นทำให้ขาดความเข้าใจและการรับรู้เรื่องสุขภาวะช่องปากอย่างถูกต้อง จึงไม่สามารถทําความสะอาดฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญคือ…การสอนแปรงฟันให้กับผู้พิการทางสายตายัง ‘ขาดสื่อการเรียนการสอนด้านการแปรงฟัน’ ที่มีประสิทธิภาพ เพราะสื่อการสอนที่ดีและเหมาะสมสำหรับผู้พิการทางสายตาควรมีองค์ประกอบสำหรับการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ การสัมผัส เสียง และการลงมือปฎิบัติจริง เพื่อให้ตอบโจทย์การทดแทนประสาทสัมผัสที่บกพร่องหรือหายไป หากสื่อนั้นไม่สามารถทดแทนสิ่งเหล่านี้ได้ ก็อาจทําให้ผู้เรียนรู้ขาดการพัฒนาทักษะการแปรงฟันที่มีประสิทธิภาพ
จึงเป็นที่มาของการจัดทำหนังสือประกอบภาพนูน เรื่อง “ฟันของเราและการแปรงฟันที่ถูกวิธี” ขึ้น โดยมีการออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาที่สอนการแปรงฟันสำหรับผู้พิการทางสายตา อาศัยการบูรณาการองค์ความรู้ทางทันตกรรมจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการถ่ายทอดประสบการณ์ของคุณครูผู้สอนเด็กที่มีปัญหาทางสายตา ร่วมกับกรรมวิธีการผลิตหนังสือภาพนูนที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษ
ผลลัพธ์ที่ได้คือ….หนังสือภาพนูนหนึ่งเล่มที่มีการเล่าเรื่องการสอนแปรงฟันผ่านอักษรเบรลล์ พร้อมเสียงบรรยายในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจขณะฝึกปฏิบัติการแปรงฟันอย่างถูกวิธี
‘หนังสือภาพนูนเรื่อง ฟันของเราและการแปรงฟันที่ถูกวิธี’ ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพด้วยงานวิจัยของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยทำการศึกษาในเด็กที่มีปัญหาทางสายตาจำนวน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นเด็กที่ใช้หนังสือภาพนูน อักษรเบรลล์ พร้อมฟังเสียงบรรยาย และปฏิบัติแปรงด้วยตัวเอง โดยที่มีคุณครูเป็นผู้คอยสังเกตการณ์ ซึ่งอาศัยความช่วยเหลือจากคุณครูเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กับเด็กกลุ่มที่สองที่ไม่มีสื่อการสอนภาพนูน ให้ฟังเพียงเสียงบรรยายเพียงอย่างเดียว พร้อมมีคุณครูจับมือแปรงฟัน
เมื่อวัดผลทางด้านความรู้ความเข้าใจโดยการทำข้อสอบ วัดผลโดยการดูองศาการวางแปรงสีฟัน การขยับแปรงสีฟัน และจํานวนด้านที่แปรงฟันว่าครบถ้วนหรือไม่อย่างละเอียด พร้อมทั้งวัดผลลัพธ์สุดท้ายคือ…เรื่องความสะอาดของช่องปาก
จากการทดลอง 6 สัปดาห์ พบว่า เด็กกลุ่มแรกที่ได้ใช้สื่อการสอนอย่างครบถ้วน สามารถแปรงฟันได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน และแปรงได้สะอาดกว่าเด็กกลุ่มที่สองอย่างมีนัยสําคัญตั้งแต่สัปดาห์แรก รวมถึงมีความเข้าใจมากกว่า เมื่อครบ 6 สัปดาห์ก็ยังคงดีขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น การใช้สื่อการสอนที่หลากหลายและตอบโจทย์การทดแทนประสาทสัมผัสที่หายไปอย่างการใช้สื่อการสอนประกอบภาพนูนเรื่อง “ฟันของเราและการแปรงฟันที่ถูกวิธี” จะทำให้ความเข้าใจในการแปรงฟันของผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นนั้นดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำสื่อการสอนให้กับผู้พิการทางสายตาในเรื่องอื่น ๆ ในอนาคตได้
ติดตามอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่ MUSEF Conference