ในประเทศไทยพบว่าปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้านับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2557 รวมถึงมีคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558
และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีโทษปรับ 5,000 บาทสำหรับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะที่ห้ามสูบเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา
ก็ยังพบว่ามีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งเป้ากลุ่มเด็กและเยาวชนผ่านช่องทางออนไลน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงอันตรายที่ไม่ควรมองข้ามจากฝุ่นควันที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าว่า นอกจากมีนิโคตินที่เป็นสารเสพติดอย่างรุนแรงเลิกยากแล้ว
ยังมีสารที่เป็นอันตรายทั้งโลหะหนักและสารก่อมะเร็งต่างๆ รวมถึงมีสารที่มีขนาดเล็กจิ๋ว PM2.5 อยู่ในควันบุหรี่ไฟฟ้า แต่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงไอน้ำที่ส่งกลิ่นหอม โดยไม่คาดว่ากลิ่นหอมนั้นจะประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ที่จะส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาของเยาวชน
นอกจากนี้ พบว่าผู้ที่ต้องสูดดมควันจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่ได้ตั้งใจแม้จะไม่ได้เป็นผู้เสพเองโดยตรง ก็จะได้รับอันตรายจากสารอันตรายในบุหรี่ไฟฟ้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
การแพร่ระบาดของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไปทั่วโลก ทั้งทึ่ถูกสร้างมาไม่ถึง 20 ปีนั้นคาดว่าเกิดจากการ ถูกโฆษณาให้เข้าใจผิด คิดว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการช่วยเลิกบุหรี่ที่มีอันตรายน้อย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ คาดว่าอาจเป็นเพราะในช่วงแรกยังไม่มีงานวิจัยที่แน่ชัดมารองรับถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเพราะยังเป็นของใหม่ จึงเป็นช่องทางโฆษณาว่ามีอันตรายน้อย รวมถึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ขายที่ต้องการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มเยาวชนหญิงให้มีทั้งกลิ่นหอมและรูปลักษณ์ที่น่าใช้น่าลอง ทำให้เกิดการระบาดอย่างหนักในหมู่เยาวชน
แทนที่จะถูกใช้อยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ โดยในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน อายุ 14 – 17 ปีเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ภายในเวลา 7 ปี จากปี ค.ศ. 2011 – 2018 มีอัตราการสูบจากร้อยละ 1.5 ไปเป็นมากกว่าร้อยละ 20
ปัจจุบันมีรายงานการวิจัยบ่งชี้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้านับพันชิ้นเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อสิบปีก่อน มีทั้งการเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงโรคปอดอักเสบรุนแรง
โดยเฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2562 – 2563 พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากการเสพบุหรี่ไฟฟ้าด้วยโรคปอดอักเสบรุนแรงกว่า 60 รายในสหรัฐอเมริกา โดยอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยน้อยกว่า 30 ปี ทำให้เกิดการยกระดับการรณรงค์ป้องกันการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นอย่างจริงจังผ่านช่องทางที่เข้าใจง่าย ทำให้อัตราการสูบในเยาวชนลดลงได้บ้าง
สาเหตุที่ต้องปกป้องกลุ่มเด็กและเยาวชนเพราะพบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ พบว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ไม่สูบสองเท่า นอกจากนี้การเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินเลิกยากมาก โดยพบว่านิโคตินมีผลการเสพติดเทียบเท่ากับเฮโรอีน
และหากยิ่งเริ่มสูบในอายุที่น้อยมากเท่าใด จะยิ่งเพิ่มโอกาสกลายเป็นผู้ที่จะต้องเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าไปตลอดชีวิตมากขึ้น โดยพบว่าถ้ามีวัยรุ่นเสพติดนิโคติน โอกาสในการเลิกตลอดทั้งชีวิตจะมีเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้น
อาจจะเป็นเพราะยังขาดการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ยังไม่สามารถทำลายกำแพงแห่งความเชื่อผิดๆ ที่ว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่บุหรี่ และไม่มีอันตราย’ ได้
ที่น่ากังวล คือ แม้แต่ในกลุ่มครูและผู้ปกครองเองหลายท่านยังไม่ทราบว่าลูกหลาน ลูกศิษย์กำลังเสพบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนขนม แฟลชไดรฟ์ หรือเครื่องดื่ม และอาจจะยังไม่รู้ถึงอันตรายที่จะเกิดกับตัวเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผู้ที่อยู่รอบข้าง ทำให้การสอดส่องห้ามปราบไม่ชัดเจน
จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการกระจายความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น และต้องทำความเข้าใจให้ผู้บังคับใช้กฎหมายได้เห็นความจำเป็นในดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อส่งสัญญาณการปกป้องเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนหญิงจากการล่อลวงของคนขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งใช้ช่องทางต่างๆ ซึ่งผิดกฎหมายทั้งสิ้นจำหน่ายสินค้าทำลายสุขภาพนี้
แม้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจะเลิกยาก แต่ไม่เกินกำลังของผู้ที่ตั้งใจจริง ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ตั้งใจเลิกทิ้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเสียตั้งแต่วันนี้ สามารถติดต่อสายด่วนเพื่อการเลิกบุหรี่ได้ที่เบอร์ 1600
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210