วันที่ 13 มิถุนายน 2568 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล และทีมผู้บริหาร รับฟังผลการดำเนินงานของส่วนงาน (University Council Visit : 4) ครั้งที่ 5/2568 ของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และรับฟังผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาและความท้าทายในอนาคต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ณ ห้องประชุมน้ำทอง คุณวิศาล วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
1.ผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจของส่วนงานในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขับเคลื่อนองค์กรขนาดเล็กให้เติบโตอย่างมีทิศทาง ด้วยแนวคิด “Small but Smart” โดยมีผลงานสำคัญดังนี้ (โครงการต่อเนื่อง)
1) พัฒนาหลักสูตร ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาให้ทันสมัยตามแนว OBE และ AUN-QA (โครงการต่อเนื่อง)
2) เปิดวิชาใหม่ เช่น “การคิดเชิงวิพากษ์” “การคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม” และ ร่วมพัฒนาวิชาโทร่วมกับสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว (โครงการต่อเนื่อง)
3) จัดอบรมครูศาสนา ในโรงเรียนรัฐและเอกชน โดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านศาสนาและจิตวิทยาเพื่อเพิ่มศักยภาพการสอน(โครงการต่อเนื่อง)
4) จัดบริการวิชาการระดับนานาชาติ ผ่านเวที “MU CRS Seminar” เพื่อเผยแพร่ความรู้พุทธศาสนาในบริบทสากล (โครงการต่อเนื่อง)
5) สนับสนุนการวิจัย ที่มีคุณภาพ ตีพิมพ์ในวารสาร TCI และ Scopus พร้อมสร้างความร่วมมือกับนักวิชาการต่างประเทศ (โครงการต่อเนื่อง)
6) บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถชำระหนี้คืนมหาวิทยาลัยได้ครบถ้วน และพัฒนาโครงสร้างภายในให้คล่องตัวและยั่งยืน (โครงการต่อเนื่อง)
2. เป้าหมายที่คาดหวังว่าจะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปีงบประมาณ 2569-2570)
วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเสริมบทบาทเชิงรุกของศาสนาในสังคมยุคใหม่ โดยจะดำเนินโครงการสำคัญใน 4 กลุ่มภารกิจหลัก ดังนี้
1) พัฒนาองค์ความรู้และวิจัยศาสนาเชิงประยุกต์
– จัดตั้งศูนย์ศาสนาประยุกต์ เพื่อเป็นพื้นที่ผลิตองค์ความรู้ด้านศาสนากับโลกปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบตำรา หนังสือ และสื่อดิจิทัล
– ศึกษาและจัดระบบเอกสารโบราณทางศาสนา ใช้คัมภีร์และเอกสารเก่าพัฒนาเป็นฐานข้อมูลทางศาสนา กฎหมาย และวัฒนธรรม เพื่อรองรับการวิจัยต่อยอดในเชิง Soft Power
– ขยายการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติและสร้างเครือข่ายนักวิจัยในกลุ่มประเทศพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมงานวิชาการให้มีบทบาท ระดับนานาชาติ
2) ขยายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ
– สัมมนานานาชาติด้านพุทธศาสนาเถรวาท โดยร่วมมือกับหน่วยงานในและต่างประเทศเพื่อผลักดันให้วิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง ด้านพุทธศาสนาในภูมิภาค
– อบรมภาษาอังกฤษทางศาสนา เพื่อพัฒนาศักยภาพการสื่อสารของพระสงฆ์และนักเรียน นักศึกษา เพื่อเชื่อมโยงกับโลกสากล
3) พัฒนาการเรียนการสอนและบริการวิชาการที่ตอบโจทย์สังคม
– หลักสูตรใหม่แบบ Dual Degree และ Non-Degree ออกแบบการเรียนที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ผู้เรียนในยุคหลากหลายวิถี
– หลักสูตรอบรมระยะสั้นและบริการวิชาการตามความต้องการ รองรับหน่วยงานรัฐ เอกชน และองค์กรทางสังคมที่ต้องการความรู้ด้านศาสนา จริยธรรม และประเด็นร่วมสมัย
– โครงการศูนย์ให้คำปรึกษาด้านศาสนาและจริยธรรมเพื่อพัฒนาบริการที่เป็นระบบเพื่อรองรับปัญหาสังคมและความท้าทายใหม่ๆ อย่างมืออาชีพ
4) ส่งเสริมบทบาทของศาสนาในชีวิตประจำวันและความมั่นคงชุมชน
– โครงการพัฒนาสุขภาพจิตโดยใช้หลักศาสนา โดยจัดอบรมครูศาสนาและครูแนะแนวเพื่อเข้าใจคนรุ่นใหม่ และนำศาสนาไปใช้ ในการเสริมสร้างจริยธรรมและสุขภาพจิต
– โครงการศาสนสถานปลอดภัย โดยจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพศาสนสถานให้สามารถรับมือภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉิน และเป็นพื้นที่ปลอดภัยของชุมชน
– โครงการทั้งหมดนี้สะท้อนจุดยืนของวิทยาลัยในการเป็นทั้งผู้รักษามรดกทางศาสนา และผู้พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่ตอบโจทย์โลกสมัยใหม่ โดยใช้หลักศาสนาเป็นพลังในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน