สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายด้านการวิจัย บริการวิชาการและศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จัดงาน “RILCA CONNECT: พลังวัฒนธรรมสร้างสรรค์”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) เชื่อมโยงการศึกษา มัธยม-อุดมศึกษา พัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
March 7, 2025
พิธีปิดการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รุ่นที่ 27
March 10, 2025

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายด้านการวิจัย บริการวิชาการและศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จัดงาน “RILCA CONNECT: พลังวัฒนธรรมสร้างสรรค์”

วันที่ 8 มีนาคม 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิศานต์ วายุภาพ รองอธิการบดีฝ่ายการพัฒนาระบบงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงาน “RILCA CONNECT : พลังวัฒนธรรมสร้างสรรค์” ภายใต้โครงการ “พื้นที่ผสานพลังทางวัฒนธรรมเพื่อผลกระทบที่ยั่งยืน” (Cultural Synergy Space for Real World Impact)” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เข้าร่วมงานและกล่าวขอบคุณสำหรับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ณ อาคารเรือนไทย (ระเบียบ คุณะเกษม) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรม “Cultural Trail” เส้นทางการเรียนรู้วัฒนธรรม โดย กลุ่มพันธกิจวัฒนธรรมสถานบริรักษ์ (iCulture) ที่จะพาผู้เข้าร่วมสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านมุมมองใหม่ กิจกรรม “สาดสี สร้างสุข” กิจกรรมศิลปะ โดย อาจารย์ธงชัย รักปทุม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2553 ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อสะท้อนพลังของวัฒนธรรม และการประมูลภาพศิลปะ เพื่อระดมทุนพัฒนา “RILCA Cultural Space” พื้นที่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ต่อไป รวมทั้ง การแสดงศิลปวัฒนธรรม โดย คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงดนตรีร่วมสมัย โดย วงชื่นเอยชื่นใจ ศิษย์เก่าสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมสร้างบรรยากาศเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน และ “ตลาดสร้างสรรค์” จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับงานวิจัยของบุคลากรของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จนเกิดเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์และมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสร้าง “พื้นที่เชื่อมโยง” (Connection Points) ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทในการใช้พลังของวัฒนธรรมเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ โดยอาศัยงานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง รวมทั้ง ยังเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และบุคลากรร่วมสร้างสรรค์และต่อยอดความรู้ทางวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมที่เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแนวทางการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนในสังคม

ขอบคุณข้อมูลและภาพข่าว : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล