วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้บริหารส่วนงาน ร่วมแสดงความยินดี แก่ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2568 ในที่ประชุมคณะกรรมการประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 22/2567 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
รางวัลการวิจัยแห่งชาติ มอบให้เพื่อเชิดชูนักวิจัย นักประดิษฐ์ ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ สร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติ รวมทั้งเป็นรางวัลที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยมีนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านต่างๆ ดังนี้
1.รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่
– ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
– รองศาสตราจารย์ ดร.รักชาติ ไตรผล คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
– รองศาสตราจารย์ ดร.วรพันธ์ คู่สกุลนิรันดร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์
2.รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่
สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ – รองศาสตราจารย์ ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ สังกัดคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะ ผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการแนวทางการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย”
สาขาการศึกษา – รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพล วิบูลยศริน และคณะ ผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์การเรียนรู้บนอุปกรณ์เคลื่อนที่แบบใช้ภาพเหตุการณ์ เป็นฐานเพื่อพัฒนาสมิทธิภาพทวิภาษาสำหรับผู้เรียนวัยเด็กยุคดิจิทัล”
3.รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่
สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ – ดร.น.สพ.ปริญญา สามารถ ศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาทของกระบวนการโอกลุคแนกซิลเลชันต่อการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งไขกระดูกมัลติเพิลไมอีโลมา”
สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย – ดร.เชน ตรีรัตนกุลชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยานิพนธ์เรื่อง “หุ่นยนต์อ่อนนุ่มเพื่อการผ่าตัดเปิดแผลเล็กด้วยการควบคุมระยะไกล”
สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิดาภา ไกรสังข์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยานิพนธ์เรื่อง “การประยุกต์แบบจำลองโครงข่ายความน่าจะเป็นกับการประเมินความเสี่ยง”
4.รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล และคณะ ผลงานเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่มีเบาหวาน โดยใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ”
สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์– ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นริศ หนูหอม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ ผลงานเรื่อง “การยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์”
รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ -ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผลงานเรื่อง “ไอ-แคร์: ผู้ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเสมือนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์”
สาขาการศึกษา -ดร.ติณณภพ แพงผม สังกัดสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ผลงานเรื่อง “ชุดเรียนรู้ STEM Coding สำหรับสร้างสรรค์ และเรียนรู้หลักการอากาศพลศาสตร์ ด้วยระบบสมองกลฝังตัวแบบสามารถระบุพิกัดตำแหน่ง”
ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะมีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568 ซึ่งจะมีพิธีพระราชทานเกียรติบัตร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ไบเทค บางนา ต่อไป