ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล (ผู้ทรงคุณวุฒิ) ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา พร้อมด้วย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ นางสาวบูรณรัตน์ ทรงพันธุ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและวิเทศสหการ สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมต้อนรับ Dr. Mayumi Yaya Yamamoto ผู้อำนวยการองค์การองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย (โตเกียว) (Director WADA Asia/Oceania Office (Tokyo) และ Ms. Olympia Karavasille รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (Deputy Director for Stakeholder Engagement and Partnership of WADA) เพื่อหารือความร่วมมือด้านสารต้องห้ามทางการกีฬาและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในด้านการดำเนินงานด้านสารต้องห้ามทางการกีฬาการส่งเงินสมทบ (Contribution) ให้กับองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA: World Anti-Doping Agency) ที่ประเทศไทยมีพันธกิจต้องช่วยสนับสนุนด้านการเงินให้กับองค์กรฯ การดำเนินงานที่เป็นอิสระของสำนักควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาและศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาของมหาวิทยาลัยมหิดล การขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเป็น “Clean sport” ในทุกกีฬา ณ ห้องประชุมชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567
สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็น 1 ในห้องปฏิบัติการ 29 แห่งทั่วโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก WADA โดยเป็น 1 ใน 6 แห่งของเอเชีย และเป็นหนึ่งเดียวในประชาคมอาเซียนที่สามารถให้บริการตรวจตัวอย่างในการกีฬาอย่างเป็นทางการ ภายใต้ข้อกำหนดของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และสหพันธ์กีฬานานาชาติของชนิดกีฬาแต่ละชนิด มีภารกิจหลักในด้านการวิเคราะห์หาสารต้องห้ามในนักกีฬาทั้งก่อนและระหว่างการแข่งขันกีฬาที่จัดขึ้นทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจวิเคราะห์หาสารต้องห้ามในนักกีฬาในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้ตั้งเป้าในอนาคตที่จะสร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนกันระหว่างพันธกิจการตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬา พันธกิจการวิจัย และพันธกิจการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการยกระดับความสามารถขององค์กรในการเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ด้านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ การจัดตั้ง Athlete Passport Management Units (APMU) เพื่อเป็นศูนย์เฝ้าระวังการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาจากฐานข้อมูล Anti-Doping Administration and Management System (ADAMS) การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสารต้องห้ามเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และค้นคว้าข้อมูล รวมถึงให้การอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ศักยภาพสูง และการให้บริการทางวิชาการที่ตอบสนองต่อการใช้งานในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาและการส่งเสริมการดูแลสุขภาพในทุกช่วงวัยให้สมดุล
ขอบคุณภาพข่าว : สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล