วันที่ 4 มกราคม 2566 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มอบผลิตภัณฑ์ชุดตรวจทางการแพทย์ ได้แก่ ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว ยี่ห้อ LEP-M Plus จำนวน 10,000 ชุด ชุดทดสอบสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์ (Contaminant detection kit for medical devices) จำนวน 10,000 ชุด และแอลกอฮอล์เจลและสเปรย์ จำนวน 480 ขวด ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อก่อโรคฉี่หนู (Leptospirosis) ที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนชาวไทย อีกทั้ง ยังทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบแก่กระทรวงสาธารณสุข เป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการวิจัย พัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สามารถนำนวัตกรรมไทยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่ประเทศทางด้านยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และสร้างการแข่งขันในระดับสากล โดยมีผู้บริหาร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ด้าน Medical devices และ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และเร่งสนับสนุนเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Center of Excellence in Medical Innovative Development and Accelerating Support for Commercialization) หรือ MIDAS Center ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการวิจัย พัฒนา และผลิตชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว (Onsite Leptospira IgM rapid test) ยี่ห้อ LEP-M Plus เป็นชุดทดสอบชนิด Lateral Flow Immunochromatographic Assay โดยมีโปรตีนของเชื้อเลปโตสไปรา ชนิดก่อโรคจำนวน 6 ชนิด ที่พบการระบาดมากในประเทศไทย เคลือบบนผิวแผ่นทดสอบ หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อฉี่หนูแถบสีจะปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่าภายในเวลา 15 นาที ซึ่งชุดทดสอบดังกล่าวใช้สำหรับบุคลากรการแพทย์ ในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยการติดเชื้อเลปโตสไปรา ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สามารถอ่านผลด้วยตาเปล่า มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะมากกว่า 98% และผ่านการขึ้นทะเบียน อย. แล้ว นอกจากการผลิต LEP-M Plus เพื่อใช้ประโยชน์ภายในประเทศแล้ว และศูนย์ MIDAS Center ยังวางแผนขยายตลาดของชุดทดสอบดังกล่าว สู่ภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ข้อมูลโดย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป