วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีเปิดตัว (Kick off) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences: TAS) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานและแถลงนโยบาย “ธัชวิทย์” ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวรายงานการดำเนินงาน “ธัชวิทย์” พร้อมนี้ มีผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานเอกชน รวมทั้งสิ้น 26 หน่วยงานเข้าร่วมพิธีลงนาม ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ธัชวิทย์” เพื่อประเทศไทย สำหรับโครงการ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ จากสถาบันวิจัยแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน ในการทำงานร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี มีฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี สร้างคลังสมอง เพิ่มระดับมหาวิทยาลัย สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า ผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงในสาขาที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่เวทีโลก
การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อนำองค์ความรู้ แต่ละฝ่ายที่มีอยู่มาร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง สร้างคลังสมองในการตอบโจทย์ แก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ และชี้แนะแนวโน้มทิศทางของโลกในอนาคต เพื่อผลิตและพัฒนาทักษะบุคลากรสมรรถนะสูงให้สอดคล้องกับความต้องการและยกระดับความสามารถของสถาบันวิจัยแห่งชาติ ภาคอุตสาหกรรม ในสาขาเฉพาะด้าน และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมแนวหน้าที่เป็นที่ต้องการของประเทศในปัจจุบันและอนาคต