คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือ กับ องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโรคที่ถูกละเลย (DNDi) เพื่อวิจัยโรคไข้เลือดออก

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
January 25, 2022
มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมการประชุมหารือเตรียมจัดประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล PMAC 2022/2023 International Organizing Committee Meeting
January 26, 2022

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือ กับ องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโรคที่ถูกละเลย (DNDi) เพื่อวิจัยโรคไข้เลือดออก

วันที่ 25 มกราคม 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามความร่วมมือ กับ องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Disease initiative : DNDi) หรือ ดีเอ็นดีไอ เพื่อการพัฒนาด้านการป้องกันและการรักษาที่สามารถเข้าถึงได้และมีประสิทธิภาพสำหรับโรคไข้เลือดออกเป็นระยะเวลาห้าปี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ดร.เบอร์นาร์ด เปอคูว์ กรรมการบริหารดีเอ็นดีไอ (DNDi) เจนีวา ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยข้อตกลงดังกล่าว ทำให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ชั้นนำของไทย เป็นสมาชิกรายแรกในแผนงานความร่วมมือแบบภาคีระดับนานาชาติ นำโดยกลุ่มประเทศที่มีโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น โดยการอุทิศให้กับการวิจัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันในการค้นหาและส่งมอบแนวทางการรักษาใหม่สำหรับโรคไข้เลือดออก ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในสถานที่วิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้ง มีเป้าประสงค์ที่นำไปสู่การค้นพบวิธีการรักษาใหม่ที่จะช่วยเยียวยารักษาอาการของไข้เลือดออก ป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาไปสู่ไข้เลือดออกชนิดร้ายแรง รวมถึงการสนับสนุนในการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยอย่างถาวร

นอกจากนี้ จะนำมาซึ่งความร่วมมือในโครงการศึกษาต่าง ๆ ที่จะต่อยอดการศึกษาวิจัยขั้นก่อนคลินิกในด้านวิธีการรักษาที่มีความเป็นไปได้ การทดสอบประสิทธิผลของยาชนิดเก่าที่นำมาใช้รักษาโรคใหม่ (repurposed drug) และการดำเนินการทดลองทางคลินิกของยาที่มีแนวโน้มที่ดีที่สุดในการรักษา ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือครั้งนี้ยังจะช่วยลดช่องว่างด้านความรู้และช่วยส่งเสริมให้การทำวิจัยทางคลินิกและการอนุมัติข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการระบุถึงความต้องการที่แท้จริงของโรคไข้เลือดออกอย่างเช่นการตรวจวินิจฉัยโรค พันธมิตรทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อระดมทุนและทรัพยากรต่าง ๆ ขณะที่แบ่งปันความรู้ทางงานวิจัยอย่างเปิดเผยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

โรคไข้เลือดออก หรือ ไข้เดงกี่ โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโดยมีความเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง นับเป็นหนึ่งในสิบของภัยคุกคามต่อการสาธารณสุขทั่วโลก อาการของโรคสามารถพบได้ทั้งการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามร่างกาย รวมถึงเจ็บกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือกระดูก ด้วยความรุนแรงของอาการดังกล่าวนี้จึงทำให้ไข้เลือดออกเป็นที่รู้จักกันในบางประเทศว่า “ไข้กระดูกแตก” (Breakbone fever) สำหรับไข้เลือดออกหรือที่เรียกว่า ไข้เลือดออกไวรัสเดงกี่ (dengue haemorrhagic fever) สามารถทำให้เกิดอาการช็อค เลือดออกภายใน อวัยวะล้มเหลว และเสียชีวิตได้