วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว เรื่อง “ไทยพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) จากบุหรี่ไฟฟ้า หวั่นคนไม่รู้อันตราย” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ แพทย์หญิงนภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ นายแพทย์ธนัญชัย เพชรนาค อาจารย์สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 910B ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบันวัยรุ่นเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยคิดว่าควัน ไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงละอองน้ำ ไอน้ำมีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม อ้างว่าว่าสูบชนิดที่ไม่มีนิโคติน ซึ่งในความเป็นจริง ควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เห็นมีฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 และ PM2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว ซึ่งที่มาของโลหะหนักอาจจะมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา ขณะที่สารปรุงแต่งกลิ่นรสที่มีนับพันชนิดที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหยมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้มีภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน และโรคอื่นได้ ที่สำคัญ คือ บุคคลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะพัฒนาต่อไปเป็นสูบบุหรี่ธรรมดาด้วย
ภาวะปอดอักเสบรุนแรงเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ปอดอักเสบจากยาบางชนิด ปอดอักเสบจากการฉายแสง รวมถึงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ ทางทีมแพทย์จึงรีบทำการตรวจหาสาเหตุของปอดอักเสบด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด การซักประวัติเพิ่มเติม ผู้ป่วยอาจให้การปฏิเสธการสัมผัสสารเคมี การสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ต่อมาทางทีมแพทย์พบว่าผู้ป่วยเคยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน พบลักษณะความผิดปกติของปอดที่พบในผู้ป่วยสูบบุหรี่ (respiratory bronchiolitis interstitial lung disease) จึงกลับไปซักประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ใหม่ ผู้ป่วยจึงให้ประวัติว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตแบบใช้แล้วทิ้งมาประมาณ 6 เดือน โดยใช้ทุกวัน ประมาณ 2 หลอดต่อสัปดาห์ ทีมแพทย์จึงสงสัยภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า EVALI ได้ทำการส่องกล้องหลอดลมผู้ป่วยและตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยภาวะ EVALI พบว่าผลตรวจทางพยาธิวิทยา และผลตรวจทางเซลล์วิทยาเข้าได้กับภาวะ EVALI ที่เคยมีการรายงานในวารสารทางการแพทย์ต่าง ๆ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยอาการดีขึ้นตามลำดับ และสามารถกลับบ้านได้ ตอนนี้อาการผู้ป่วยกลับสู่ปกติ ผู้ป่วยกล่าวว่าจะไม่กลับไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีก และได้ชักชวนเพื่อนที่รู้จักที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และพอตเลิกใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย
ที่มา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป