คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล จัดประชุมเชิงปฎิบัติการ “เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี” เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable university)

ศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (COSHEM) ม.มหิดล จัดอบรมยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (Enhancement of Safety Practice of Research Laboratory : ESPReL)
March 18, 2021
ม.มหิดล จัดงาน Healthy University Day 2021 “ร่วมกันสร้างจุดยืน ไม่รับทุนสนับสนุนทุกรูปแบบจากบริษัทบุหรี่/ยาสูบ”
March 18, 2021

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล จัดประชุมเชิงปฎิบัติการ “เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี” เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable university)

2021.3.18_210318_12

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับและบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “Mahidol University: Green and Sustainability Campus” ในการประชุมคณะกรรมการร่วม ระหว่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือจีสด้า (GISTDA) และมหาวิทยาลัย (ศูนย์ภูมิภาคฯ ) ครั้งที่ 2/2564 หัวข้อ “Space and Geoinformatics Technologies for Clean Environment for Better Life : เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคกลางและภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงานการประชุม ณ ห้องประชุมศาสตรเมธี ดร.พงศ์พิศน์ ปิยะพงศ์ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีความตระหนักถึงปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่กลายเป็นปัญหาคุกคามสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชน ในปี 2563 เป็นต้นมา มีการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable university) เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยมีการกำหนดนโยบาย “Mahidol sustainability action” ปี พ.ศ.2563-2567 ซึ่งประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) รากฐานการเติบโตที่ยั่งยืน 2) การใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน และ 3) ชุมชนที่ยั่งยืน เพื่อให้นักศึกษา บุคลากร และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนในเรื่องของ “Mahidol University: Green and Sustainability Campus” นั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็น Green Campus มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นสมัยของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่จัดทำแผนแม่บทภายใต้แนวคิด “มหาวิทยาลัยเมืองในฝัน เมืองน่าอยู่และเสริมสร้างสุขภาวะ” จากนโยบาย “A Promised Place to Live and Learn with Nature” หรือ “เราจะเรียน และเราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” โดยเริ่มจากการสร้างพื้นที่ในมหาวิทยาลัยร้อยละ 70 ให้เป็นสีเขียว ทำให้น่าอยู่ร่มรื่นเป็นห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างจินตนาการและการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังได้สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นสถานที่ที่ชุมชนเพื่อนบ้านของมหาวิทยาลัยได้ร่วมใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ตลอดจนเป็นต้นแบบในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรม และโครงการต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ต่อมาในสมัยของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร ได้มีการผลักดัน และสานต่อด้วยการกำหนดเป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

นอกจากนี้มีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อต่างๆ อาทิ “การขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ภูมิภาคฯ ภาคกลางและภาคตะวันตก” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคฯ และการเสวนาเรื่อง “ทิศทางการดำเนินงานร่วมกันของศูนย์ภูมิภาคฯ ในสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19” หลังจากนั้นเป็นการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยมหิดล ชมรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ และเยี่ยมชมอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย (ศูนย์ภูมิภาคฯ) ที่เข้าร่วมประชุมมี 7 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคกลางและภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่าง สทอภ. และมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การวิจัยและนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพร่วมกับการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้เกิดประโยคสูงสุด