คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเปิดโครงการ “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด”

ม.มหิดล ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบ Ecosystem ภายใต้โครงการ Reinventing University System
March 30, 2021
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมประชุมชี้แจงแนวทางและหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
March 31, 2021

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเปิดโครงการ “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด”

w_001

วันที่ 31 มีนาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดโครงการ “รักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 237 ราย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” ในโอกาสครบรอบ 133 ปี โรงพยาบาลศิริราช 104 ปี ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉนียน เรืองเศรษฐกิจ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ นพ.สิทธิพร  ศรีนวลนัด หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วรบุตร  ทวีรุจจนะ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป พร้อมด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 รพ.ศิริราช

โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสที่มีเป็นจำนวนมาก หายจากโรค ใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ มีการกำหนดเกณฑ์คัดเลือกผู้ป่วย ทั้ง 237 ราย จะได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการวินิจฉัย ว่า จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ มีการประเมินเศรษฐานะจากนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลศิริราช ผู้ป่วยในโครงการจะได้รับการรักษาและเข้าพักในหอผู้ป่วยสามัญ

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จะมีพิธีเปิดนิทรรศการ “พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์” ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจได้เข้าชม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับจุดกำเนิดแห่งวงการศัลยแพทย์ไทย…บอกเล่าเรื่องราวของภาควิชาศัลยศาสตร์ ที่มีอายุยาวนานกว่า 104 ปี  ปูชนียแพทย์ที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการผ่าตัด สัมผัสบรรยากาศห้องผ่าตัดจำลองในยุคต่าง ๆ ราวกับได้เข้าไปมีส่วนร่วมในห้องผ่าตัดยุคนั้น ๆ  ได้เรียนรู้โรคทางศัลยกรรมที่หลากหลาย ทั้งโรคที่พบบ่อยจนไปถึงโรคที่หายากต้องอาศัยวิธีรักษาที่ซับซ้อนด้วยเทคนิคการผ่าตัดขั้นสูง โดยนำเสนอผ่านชิ้นเนื้อของจริงตามระบบอวัยวะต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก ชมการผ่าตัดเสมือนจริงด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดภายใต้เทคนิคล้ำสมัยเหนือจินตนาการอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.30 น. (หยุดวันอังคาร และวันนักขัตฤกษ์)

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่มีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic surgery) โดยริเริ่มผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นรายแรกของประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นและสร้างชื่อเสียงของสถาบัน ซึ่งการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นที่ยอมรับทั้งในแง่ของระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยอย่างเร็ว ภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดน้อย รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ในการผ่าตัดต่อยอดเพิ่มขึ้น เช่น การผ่าตัดมะเร็งที่ไต หรือการผ่าตัดแก้ไขภาวะอุดตันของท่อไต เป็นต้น ปัจจุบันได้จัดโครงการเพื่อพัฒนาความรู้สู่ศูนย์ความเป็นเลิศ Center of Excellent ในด้านการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้งได้มีการพัฒนาศักยภาพการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ให้ได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ การผ่าตัดด้วยวิธีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะโรคอ้วนทุพพลภาพ (Robotic-assisted bariatric surgery) การผ่าตัดโรคระบบทางเดินปัสสาวะมากขึ้น เช่น ผ่าตัดไต ต่อมหมวกไต และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งช่วยลดภาวะแทรกซ้อนทางการผ่าตัด ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นลง แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็ก อาการปวดแผลหลังการผ่าตัดน้อยลง  สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของแผลผ่าตัดได้ ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจและมีความสุข  อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยวิธีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้น มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ เรื่องค่าใช้จ่ายสูงทำให้คนไข้เข้าถึงได้ยาก ดังนั้น การมีโครงการช่วยเหลือครั้งนี้ จะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มากขึ้น นับเป็นประโยชน์แก่คนไข้อย่างยิ่ง

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พร้อมด้วยศักยภาพของทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ประสบผลสำเร็จ  ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ หรือมีจิตศรัทธาร่วมสมทบกองทุนเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถติดต่อบริจาคสมทบทุนโครงการฯ ได้ที่ศิริราชมูลนิธิ  รหัสทุน D707070  จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. (หยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถาม โทร. 02 419 7658-60  LINE: @sirirajfoundation หรือสอบถามข้อมูลผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการได้ที่  ภาควิชาศัลยศาสตร์ รพ.ศิริราช  โทร. 02 419 7611 หรือ โทร. 02 419 7132